ประสิทธิผลของโปรแกรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในบุคคลที่เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง Effectiveness of a Hypertension Prevention Program in High-Risk Persons to Hypertension

ผู้แต่ง

  • จุฑารัตน์ ศิริพัฒน์
  • สุทธีพร มูลศาสตร์
  • ฉันทนา จันทวงศ์

คำสำคัญ:

โรคความดันโลหิตสูง กลุ่มเสี่ยง ความตระหนักรู้ในตนเอง ความสามารถในตนเอง ความคาดหวังต่อผลลัพธ์ ความดันเลือดแดงเฉลี่ย

บทคัดย่อ

การวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูงต่อความตระหนักรู้ในตนเอง ความสามารถในตนเอง พฤติกรรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ความคาดหวังต่อผลลัพธ์ และความดันเลือดแดงเฉลี่ยของบุคคลที่เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง

                        กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลที่เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงในตำบลตะเคียน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีความดันโลหิตซิสโตลิค 120-139 มิลลิเมตรปรอท ความดันโลหิตไดแอสโตลิค 80-89 มิลลิเมตรปรอท และมีบิดามารดาหรือพี่น้องเป็นโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 70 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มละ 35 คน กลุ่มตัวอย่างถูกสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เครื่องมือดำเนินการวิจัย ได้แก่ 1. โปรแกรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีความตระหนักรู้ของดูวาลล์และวิคแลนด์ร่วมกับทฤษฎีความสามารถในตนเองของแบนดูรา มีระยะเวลา 10 สัปดาห์ กิจกรรมประกอบด้วย 1) การชมวีดิทัศน์ การฝึกทักษะ การทำแบบฝึกหัด 2) การเล่าถึงความสำเร็จของตนเอง 3) การชักจูงโดยใช้คำพูด การบรรยาย 4) การใช้ตัวแบบสุขภาพ                5) การกระตุ้นทางอารมณ์ และ 2. คู่มือการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถาม ประกอบด้วย 6 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ความตระหนักรู้ในตนเอง ความสามารถในตนเอง พฤติกรรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ความคาดหวังต่อผลลัพธ์ และข้อมูลทางคลินิก เครื่องมือมีดัชนีความตรงเชิงเนื้อหาระหว่าง .80-.98 และมีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาครอนบาคระหว่าง .83-.96  และ 2) สายวัดรอบเอว เครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิทัล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณาและสถิติทดสอบที

ผลการวิจัยพบว่า หลังเข้าร่วมโปรแกรมสัปดาห์ที่ 10 1) กลุ่มทดลองมีความตระหนักรู้ในตนเอง ความสามารถในตนเอง พฤติกรรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ความคาดหวังต่อผลลัพธ์ ดีกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรม และดีกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2) กลุ่มทดลองมีความดันเลือดแดงเฉลี่ยลดลงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ลดลงไม่แตกต่างกับกลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ข้อเสนอแนะควรต้องมีการประเมินและและเสริมความรู้ของผู้ที่อยู่ในครอบครัวกลุ่มเสี่ยง พร้อมแนะแนวทางการปฏิบัติให้เกิดทักษะจนสามารถกระตุ้นเตือนกลุ่มเสี่ยงให้มีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง สนับสนุนการอบรมอย่างต่อเนื่อง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-03-29