ความถี่ของความผิดปกติของฮีโมโกลบินที่รายงานพร้อมกับผล HbA1c ในผู้ป่วยโรคเบาหวานในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
คำสำคัญ:
ความถี่, โรคเบาหวาน, ฮีโมโกลบินเอวันซี, ฮีโมโกลบินผิดปกติบทคัดย่อ
การตรวจวัดค่า HbA1c เป็นการตรวจหาค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ระดับของ HbA1c มีความสัมพันธ์โดยตรงกับระดับน้ำตาลในเลือด หากผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ได้ควบคุมและดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี จนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ การตรวจวัดระดับ HbA1c ค่าที่ได้ต้องถูกต้อง แม่นยำ และสะท้อนค่าที่แท้จริงของผู้ป่วยที่มีฮีโมโกลบินปกติ หากผู้ป่วยเบาหวานมีความผิดปกติของฮีโมโกลบิน ระดับของ HbA1c ก็จะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีการศึกษาอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความผิดปกติของฮีโมโกลบิน ปัจจุบันห้องปฏิบัติการตรวจ HbA1c ด้วยวิธี capillary electrophoresis (CE) ทำให้สามารถรายงานผล HbA1c และ screening Hb typing ได้ จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความถี่ของความผิดปกติของฮีโมโกลบินในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีการส่งตรวจระดับ HbA1c ในปี พ.ศ. 2563 ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ พบว่าในผู้ป่วยจำนวน 18,920 ราย มี hemoglobin profile ปกติ A2A (2< HbA2 < 3.5%) ร้อยละ 80.42, แบบ A2A (HbA2<2%) ร้อยละ 8.04, แบบ EA ร้อยละ 7.88 ผู้ป่วย Beta trait แบบ A2A (HbA2 ≥ 3.5%) ร้อยละ 2.18, hemoglobin profile แบบ EE ร้อยละ 0.27, แบบ A2A (5 <Hb F <23%) ร้อยละ 0.22 และผู้ป่วย Hb H disease พบร้อยละ 0.11, แบบ A2FA (Hb F>23%) พบร้อยละ 0.08 และอื่นๆร้อยละ 0.80 สรุปได้ว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ส่งตรวจ HbA1c มีความผิดปกติของฮีโมโกลบินที่ไม่สามารถรายงานผลได้ร้อยละ 0.40 ซึ่งเป็นข้อจำกัดของวิธีการตรวจวัด