ความชุกและรูปแบบความไวของเชื้อ Acinetobacter baumannii และ Pseudomonas aeruginosa ที่ดื้อต่อยากลุ่มคาร์บาพีเนมที่แยกได้จากผู้ป่วยในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • พัชรินทร์ ถนอมชู

คำสำคัญ:

Acinetobacter baumannii, Pseudomonas aeruginosa, คาร์บาพีเนม

บทคัดย่อ

เชื้อ Acinetobacter baumannii และเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ที่ดื้อต่อยากลุ่ม carbapenems (CR-AB และ CR-PA) เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วโลก เป็นสาเหตุที่ทำให้อาการของผู้ป่วยมีความรุนแรงขึ้น และต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและรูปแบบความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อ CR-AB และ CR-PA ที่แยกได้จากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ข้อมูลเชิงสถิติและข้อมูลผู้ป่วยเก็บรวบรวมจากห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาและระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 รวมทั้งหมด 1,558 ตัวอย่าง (A. baumannii 853 ตัวอย่างและ P. aeruginosa 705 ตัวอย่าง) เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ความไวต่อยาต้านจุลชีพทดสอบโดยวิธี modified Kirby-Bauer’s พบเชื้อ CR-AB 554 ตัวอย่าง (ร้อยละ 64.9) และ CR-PA 69 ตัวอย่าง (ร้อยละ 9.8)  ความชุกของเชื้อ CR-AB และ CR-PA พบในเพศชาย (CR-AB ร้อยละ 64.3 และ CR-PA ร้อยละ 60.9) มากกว่าในเพศหญิง (CR-AB ร้อยละ 35.7 และ CR-PA ร้อยละ 39.1) ช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เสมหะเป็นตัวอย่างหลักที่พบเชื้อ CR-AB (ร้อยละ 61.2) และ CR-PA (ร้อยละ 65.2) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ CR-AB และ CR-PA ส่วนใหญ่พบในหอผู้ป่วยไอซียู  เชื้อ CR-AB ดื้อต่อยาต้านจุลชีพที่ใช้ทดสอบเกือบทุกชนิด แต่ยังคงให้ผลไวต่อยา tigecycline ร้อยละ 88.5 ส่วนเชื้อ CR-PA หลายตัว ยังคงให้ผลไวต่อยากลุ่ม aminoglycosides ยากลุ่ม beta-lactams อื่นๆ และยากลุ่ม fluoroquinolones กล่าวโดยสรุป ในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ปีพ.ศ. 2561 พบความชุกของเชื้อ CR-AB สูงกว่าของเชื้อ CR-PA โดยเชื้อ CR-AB เกือบทุกตัว ดื้อต่อยาหลายขนาน ในขณะที่เชื้อ CR-PA ดื้อต่อยากลุ่ม carbapenems เท่านั้น  แต่ไม่พบการดื้อต่อยาต้านจุลชีพชนิดอื่น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-02-24

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ