การประเมินผลการตรวจหาเชื้อมัยโคแบคทีเรียด้วยวิธี Reverse Blot Hybridization
คำสำคัญ:
การวินิจฉัยวัณโรค, Reverse blot hybridization assay, Real time PCR, DNA sequencingบทคัดย่อ
วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สามารถพบได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย โดยส่วนใหญ่มักพบที่ปอด (ร้อยละ 80) ส่วนวัณโรคนอกปอดอาจพบได้ในอวัยวะอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ช่องท้อง อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ และระบบประสาท การวินิจฉัยวัณโรคนิยมตรวจด้วยวิธีย้อมด้วยสีทนกรด การเพาะเลี้ยงเชื้อและวินิจฉัยแยกชนิดของเชื้อ แต่ทั้งสองวิธีมีข้อจำกัด โดยการย้อมด้วยสีทนกรดต้องมีปริมาณของเชื้อในสิ่งส่งตรวจมากพอจึงจะตรวจพบได้ ส่วนการเพาะเลี้ยงและวินิจฉัยแยกชนิดเชื้อต้องใช้ระยะเวลานาน 2-3 เดือน การศึกษานี้ได้นำชุดตรวจ REBA Myco-ID® ซึ่งอาศัยหลักการ reverse blot hybridization assay มาใช้ตรวจวินิจฉัยเชื้อจากสิ่งส่งตรวจที่เก็บจากอวัยวะที่อาจมีเชื้อวัณโรคในปริมาณน้อย หรือมีการติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียสายพันธุ์อื่นที่ไม่ก่อให้เกิดวัณโรค (non-tuberculous mycobacteria; NTM) โดยศึกษาเปรียบเทียบผลการตรวจกับวิธี real time PCR และ DNA sequencing ผลการศึกษาในตัวอย่าง 34 ราย พบว่าผลตรวจด้วยชุดตรวจ REBA Myco-ID® มีความสอดคล้องกับผลตรวจจากวิธี real time PCR และ DNA sequencing โดยมีความไวและความจำเพาะร้อยละ 100 นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาข้อมูลย้อนหลังเพื่อหาความไวของผลการตรวจด้วยวิธีย้อมด้วยสีทนกรดและการเพาะเลี้ยงและวินิจฉัยแยกชนิดเชื้อ เปรียบเทียบกับผลการตรวจด้วยวิธี REBA Myco-ID® พบว่าการตรวจด้วยวิธีย้อมด้วยสีทนกรดและการเพาะเชื้อ มีความไวร้อยละ 35.3 และ 66.7 ตามลำดับ ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าวิธี REBA Myco-ID® มีความไวและความจำเพาะสูง แม้จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็มีความคุ้มค่า เหมาะที่จะนำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อนอกปอด ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียสายพันธุ์อื่นที่ไม่ก่อให้เกิดวัณโรค และสิ่งส่งตรวจที่อาจมีปริมาณของเชื้อก่อโรคน้อย