Journal Information
Publication Ethics
จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารการแพทย์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (Publication Ethics)
บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ (Editor)
- บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคุณภาพบทความที่เสนอเพื่อการเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสาร
- บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ยกเว้น ถูกร้องขอด้วยเหตุผลอันสมควร และไม่เกิดผลกระทบเชิงลบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
- บรรณาธิการจะคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
- บรรณาธิการต้องไม่ลงตีพิมพ์ หรือตอบรับบทความโดยที่ไม่มีข้อมูลยืนยัน
- บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ร่วมกับผู้นิพนธ์ และผู้ประเมิน
- บรรณาธิการ และกองบรรณาธิการ คัดเลือกผู้ประเมินบทความมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิทยาการ และองค์กรที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนจัดทำและปรับปรุง “คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์” ให้ร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง
- บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบและปกป้องมาตรฐานของทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานวิชาการ/งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน วารสารฯ และตรวจสอบเพื่อหลีกเลี่ยงการพิมพ์ซ้ำ/ซ้ำซ้อน และการลอกเลียนโดยมิชอบ/การแอบอ้างความคิดเห็นของผู้อื่นมาเป็นของตน (duplications/plagiarism)
- หากพบว่ามีการลอกเลียนโดยมิชอบ หรือมีการไม่ปฏิบัติตามความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ บรรณาธิการต้องหยุดการประเมินทันที พร้อมทั้งส่งหนังสือถึงผู้นิพนธ์ทันที เพื่อขอคำชี้แจงประกอบการพิจารณา ตอบรับ หรือ ปฏิเสธ การตีพิมพ์บทความนั้น
บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)
- ผู้นิพนธ์ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากผลงานในการเขียนบทความ โดยไม่บิดเบือนข้อมูล หรือทำให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
- ผู้นิพนธ์ต้องมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม จริยธรรม และมีอิสระทางวิชาการโดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการวิจัย (ตามคู่มือ “จรรยาวิชาชีพของนักวิจัย และแนวทางปฏิบัติ” สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2554)
- ผู้นิพนธ์ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลงานตนเองและรับรองว่า ผลงานไม่เคยถูกตีพิมพ์ หรือกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นใด
- ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นที่ปรากฏอยู่ในผลงานวิชาการ/งานวิจัยของตนเอง ต้องมีความสุจริตทางวิชาการ ไม่มีการกระทำที่เป็นการลอกเลียน/แอบอ้างงานเขียน หรืองานสร้างสรรค์ของผู้อื่นทั้งหมดหรือบางส่วนนำมาใส่ในงานของตนเองโดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา (plagiarism)
- ผู้นิพนธ์ต้องใส่ชื่อผู้ร่วมวิจัยทั้งหมด ในกรณีที่งานวิจัยมีผู้ร่วมทำงานหลายคน โดยไม่แอบอ้างเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตนเองแต่เพียงผู้เดียว
- ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานหรือบทความดังกล่าว ที่ส่งมานั้นไม่มีข้อความ ภาพ และตารางใดๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ส่วนบุคคลของผู้หนึ่งผู้ใด
- ผู้นิพนธ์ควรพยายามหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) มิให้เกิดขึ้น ทั้งในกระบวนการวิจัย และ/หรือ กระบวนการเผยแพร่ผลงานวิจัย ความสัมพันธ์นี้อาจเป็นความสัมพันธ์ด้านบวกหรือด้านลบก็ได้ หรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ ความสัมพันธ์ทางการเงิน ฯลฯ อันก่อให้เกิดอคติต่องานวิจัยได้ หากผู้นิพนธ์คาดว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนในงานวิจัย ให้เปิดเผยต่อบรรณาธิการวารสารฯ ทราบล่วงหน้า และแหล่งทุนวิจัยจะต้องถูกกล่าวถึงในกิตติกรรมประกาศผู้นิพนธ์ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Reviewer)
- ผู้ประเมินจะต้องรักษาความลับของผลการประเมินอย่างเคร่งครัด และจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลผลการประเมินบทความ ขณะประเมินหรือหลังการประเมินให้แก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องทราบ
- ผู้ประเมินไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ซึ่งส่งผลให้การประเมินขาดความ โปร่งใส ไม่เป็นอิสระ หากมีควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบตั้งแต่เบื้องต้นที่ได้รับบทความนั้น
- ผู้ประเมินบทความควรมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่ประเมิน โดยควรให้ความสำคัญด้านคุณภาพของบทความ และต้องตัดสินโดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการมารองรับ และไม่ตัดสินด้วยเหตุผลส่วนตัว
- ผู้ประเมินควรประเมินผลงานวิชาการ/งานวิจัย ในสาขาวิทยาการที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ และควรถอนตัวจากการพิจารณาผลงานวิชาการ/งานวิจัย หากพบว่า ตนเองไม่อาจประเมินผลงานวิชาการ/งานวิจัยได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม โดยแจ้งให้บรรณาธิการรับทราบ
- ผู้ประเมินควรตรวจสอบความซ้ำซ้อนของบทความ หากพบว่ามีการคัดลอก ให้ข้อมูลเท็จ หรือปิดบังอำพรางควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบเพื่อจัดการให้เหมาะสมต่อไป
- ผู้ประเมินมีบทบาทประเมินและให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการต่อผลงานวิชาการ/งานวิจัยด้วยความเป็นธรรมและปราศจากอคติ ช่วยเหลือบรรณาธิการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ/งานวิจัย ในวารสารฯ และช่วยเหลือผู้นิพนธ์เพื่อพัฒนาความถูกต้องและคุณภาพของผลงานให้ดีขึ้น
- ผู้ประเมินบทความควรแนะนำผลงานวิชาการ/งานวิจัยอื่นที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อผลงานซึ่งผู้นิพนธ์ยังมิได้อ้างอิง แต่ไม่แนะนำผู้นิพนธ์อ้างอิงผลงานของตนเอง