สุขภาพจิตของกลุ่มแอลจีบีทีคิวพลัส
คำสำคัญ:
สุขภาพจิต, แอลจีบีทีคิวพลัสบทคัดย่อ
เดือนมิถุนายน ถือว่าเป็น pride month เกิดจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าในสโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) ที่เป็นบาร์เกย์ในหมู่บ้านกรีนิช มหานครนิวยอร์ก ทำให้เกิดความตึงเครียดและกลายเป็นเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ในที่สุด การจลาจลนี้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ กระตุ้นให้ผู้คนแสดงตนมากขึ้นที่เรียกว่า come out เพื่อเรียกร้องสิทธิของความเท่าเทียม และในปีต่อมาเดือน มิถุนายน ได้เกิดการเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การจลาจลในครั้งนั้น ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ1 ในที่สุดกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงได้จัดกิจกรรมในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความภาคภูมิใจและความชอบในตัวตนที่แท้จริง ซึ่งความภูมิใจที่เกิดขึ้นนั้นต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดจากการโดนดูถูก การใช้ความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติของสังคม โดยการแต่งกาย การเดินขบวนพาเหรดได้มีสีสันสดใสหรือเป็นสีรุ้ง เพื่อเป็นการแสดงออกและเฉลิมฉลองถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับ เรียกเทศกาลนี้ว่า เทศกาลไพรด์ (pride festival)
สำหรับประเทศไทยเคยมีการจัดงานไพรด์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999 ในชื่อ Bangkok gay festival เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจในสังคม และรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ หลังจากนั้นก็มีการจัดงานเรื่อยมาอีกหลายครั้งแต่ต้องหยุดไปในปี ค.ศ. 2017 จนเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2022 ได้มีการจัดงาน Bangkok Naruemit pride โดยเครือข่ายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับในปี ค.ศ. 2023 นี้ งานไพรด์พาเหรดที่กรุงเทพฯ ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน และยังได้มีการจัดงานนี้ในประเทศไทยอีกอย่างน้อย 6 จังหวัด ตลอดช่วงเดือนมิถุนายน2 โดยปัจจุบันมีกว่า 80 ประเทศทั่วโลกที่มีการจัดขบวนไพรด์พาเหรดดังกล่าว
ในช่วงแรกของการจัดงานนั้น ได้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตั้งแต่ gay parade, gay and lesbian parade, LGBT parade ฯลฯ และมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ระลึกถึงเหตุการณ์ “จลาจลสโตนวอลล์” เรียกร้องสิทธิ การยอมรับในสังคมของเพศทางเลือก เฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ โดยเฉพาะประเด็นการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายนั้น แรกเริ่มเดิมทีในหลายประเทศจะเป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมาย Sodomy law ที่บัญญัติว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญา ก่อนจะค่อย ๆ ขยับมาเป็นการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติอันมาจากความแตกต่างทางเพศ หรือแม้กระทั่งหลักประกันความเสมอภาคความเท่าเทียมกันในรัฐธรรมนูญ3
สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า LGBTQ+ (แอล-จี-บี-ที-คิว-พลัส) นั้น โดยตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัว คือตัวแทนของความหลากหลายทางเพศแบบใดแบบหนึ่งตามเพศวิถี ดังนี้:
L – lesbian (เลสเบี้ยน) : หญิงรักหญิง
G – gay (เกย์) : ชายรักชาย
B – bisexual (ไบเซ็กชวล) : ชายหรือหญิงที่มีความรักกับเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้ามก็ได้
T – transgender (ทรานส์เจนเดอร์) : ผู้ที่เปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตน ไปเป็นเพศตรงข้าม
Q – queer (เควียร์) : คนที่ไม่จำกัดตนเองเป็นเพศใด ๆ และไม่เกี่ยวกับเพศสภาพ
และตัวย่อนี้ ยังรวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ (+) อีกด้วย4
ปัจจุบัน ในทางการแพทย์ บุคคลที่มีความหลากหลายทางไม่ได้ “เป็นโรค” หรือ “มีความผิดปกติทางจิต” แต่อย่างใด โดยใน ICD-11 ขององค์การอนามัยโลก ได้ถอดกลุ่มนี้ออกจากความผิดปกติทางจิตแล้ว5 ทั้งนี้ในขณะที่ผู้เขียนได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลกให้ไปเป็นกลุ่มที่ปรึกษานานาชาติ (international advisory group)6 ในการทบทวน ICD-10 และพัฒนา ICD-11 ก็ได้มีการอภิปรายในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ได้มีรายงานว่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศบางคน ประสบปัญหาสุขภาพจิต เช่น มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีอาการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในรายที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว ชุมชน หรือสังคม หรือในบางรายถูกตีตราจากสังคม บางรายถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ดังนั้นปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มบุคคลเหล่านี้สมควรจะได้รับความสนใจอย่างจริงจัง เปิดโอกาสให้ได้เข้าถึงบริการในระบบสุขภาพจิตให้มากขึ้น โดยบุคลากรทางการแพทย์จะต้องมีเจตคติในทางบวกต่อบุคคลกลุ่มนี้ รวมทั้งต้องมีสมรรถนะการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender sensitive) ซึ่งได้มีผู้ทบทวนและเสนอแนะไว้แล้ว7
ผู้เขียนขอเสนอเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่การทำเวชระเบียน ในช่องที่ให้ระบุเพศ ซึ่งในแบบฟอร์มของโรงพยาบาลทั่วไปจะมีให้เลือกเฉพาะเพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น ควรจะเพิ่มช่องอื่น ๆ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย ควรมีคลินิกเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ควรมีห้องน้ำสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนอกเหนือจากห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง และห้องน้ำสำหรับคนชราหรือผู้พิการ นอกจากนี้บรรยากาศในโรงพยาบาลควรเป็นมิตร (friendly) กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อเคารพถึงความเท่าเทียมกัน ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำเนื่องจากเพศสภาพ และเคารพในสิทธิมนุษยชน จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับคนทุกวัยและทุกเพศสภาพ และทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อยู่อย่างมีความสุข8
Downloads
References
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต. “Pride Month” เดือนแห่งความภูมิใจของ LGBTQ ความหลากหลายทางเพศที่เท่าเทียม [“Pride Month” is a month of pride for LGBTQ gender equality]. สมุทรปราการ: โรงพยาบาล; 2566 [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566]. จาก: https://ch9airport.com/pride-month/#:~:text=Pride%20Month%20เกิดจากเหตุการณ์,คนแสดงตนมากขึ้น
บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (PPTV HD36). รวมที่เที่ยวงาน "Pride Month" [Including attractions for "Pride Month"]. กรุงเทพฯ: บริษัท; 2 มิ.ย. 2566 [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2566]. จาก: https://www.pptvhd36.com/travel/thailand/197787
ประชาไท. Rocket media lab: กว่าจะได้เดินอย่าง ‘ไพรด์’ สำรวจพาเหรดงานไพรด์และกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วโลก [Rocket media lab: walking like 'Pride' exploring pride parades and marriage equality laws around the world]. กรุงเทพฯ: ประชาไท; 4 มิ.ย. 2566 [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566]. จาก: https://prachatai.com/journal/2022/06/98922?__cf_chl_tk=iZHtvOmetTbS20rY4Tr62JQHBIAnR1hkKh3g.GJ_yEw-1686988287-0-gaNycGzNC3s
โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ. ทำความรู้จัก LGBTQ+ โอบกอดความหลากหลายที่ “ไม่จำเป็นต้องรักษา” [Get to know LGBTQ+, embrace diversity at “No treatment needed”]. สมุทรปราการ: โรงพยาบาล; 15 พ.ย. 2565 [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566]. จาก: https://www.princsuvarnabhumi.com/news/-LGBTQ
World Health Organization. ICD-11 international classification of diseases 11th revision [Internet]. Geneva: World Health Organization; 2018 [cited 2023 Jun 16]. Available from: https://icd.who.int/en
World Health Organization. Mental health topic advisory group for ICD-11 [Internet]. Geneva: World Health Organization; 2018 [cited 2023 June 16]. Available from: https://dxrevisionwatch.files.wordpress.com/2010/03/mental_tag_feb10.pdf
สมพร รุ่งเรืองกลกิจ, พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์. ผลกระทบของเพศภาวะต่อสุขภาพจิตและแนวคิดเพศภาวะกำหนดนโยบายสุขภาพจิต [The impact of gender on mental health and concepts of gender approach mental health policy]. วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย. 2564;29(3):259-72.
สัตยา ประกอบชัย, รังสิมันต์ สุนทรไชยา, เอกอุมา อิ้มคำ. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสุขของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ [The factors related to the happiness among sexual-and gender-diverse persons]. วารสารพยาบาลทหารบก. 2564;22(2):187-96.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2023 วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
- ผู้อ่านสามารถนำข้อความ ข้อมูล จากวารสารไปใช้ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ เช่น เพื่อการสอน เพื่อการอ้างอิง แต่การนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการค้า จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมสุขภาพจิตก่อน
- ความคิดเห็น ข้อมูล และบทสรุปต่าง ๆ ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยเป็นของผู้เขียนบทความและมิได้แสดงว่ากองบรรณาธิการหรือกรมสุขภาพจิตเห็นพ้องด้วย