ปัจจัยที่มีผลต่อระยะความรุนแรงของการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ผู้แต่ง

  • สุชา อายุวัฒน์ กลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลหัวหิน

คำสำคัญ:

ความรุนแรง, มะเร็งเยื่อบุผิว, ปัจจัยเสี่ยง

บทคัดย่อ

บทนำ: โรคมะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในกลุ่มมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี และเป็นมะเร็งที่พบมีอุบัติการณ์ของโรคเป็นอันดับ 6 ในสตรีไทย การรอดชีวิตที่ 5 ปี แรกของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เพียงร้อยละ 46 แต่หากได้รับการวินิจฉัยที่ระยะเริ่มแรกก็จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีแรกสูงขึ้นเป็นร้อยละ 94 และเป็นที่ยอมรับกันว่าการรักษาผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่ประกอบด้วยการผ่าตัดและการให้ยาเคมีบำบัดจะได้ผลดีที่สุดหากได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อระยะความรุนแรงของการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบเก็บข้อมูลย้อนหลัง โดยเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์และแฟ้มทะเบียนผู้ป่วยของแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลหัวหิน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2565 เป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งหมด 63 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบเก็บข้อมูล ประกอบด้วย อายุ ค่า CA125 ผลอัลตร้าซาวด์ (ความผิดปกติของอัลตร้าซาวด์ประกอบไปด้วย 1) มีลักษณะของถุงน้ำหลายใบที่อยู่ใกล้ชิดกัน 2) มีบริเวณที่เป็นเนื้อแข็งตันในรอยโรครังไข่ 3) มีรอยโรคของรังไข่ทั้งสองข้าง 4) มีภาวะท้องมานหรือน้ำในท้องปริมาณมาก 5) มีการกระจายของรอยโรคไปตามอวัยวะอื่นๆ โดยหากพบความผิดปกติเพียง 1 ข้อจะจัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติน้อย แต่หากพบความผิดปกติตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไปจัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติมาก) การหมดประจำเดือน ขนาดของเนื้องอก การตั้งครรภ์ ดัชนีมวลกาย คะแนน Risk of Malignancy Index (RMI) และระยะความรุนแรงของมะเร็งรังไข่ นำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ความถี่ ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อระยะความรุนแรงของการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้ Chi-square test และ independent t-test

ผลการศึกษา: กลุ่มผู้ป่วยจำนวน 63 ราย ระยะเริ่มต้นเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยระยะลุกลาม พบว่า ค่า CA125 ในมะเร็งรังไข่ระยะเริ่มต้น 175.8+349.3 ยูนิต/มล. น้อยกว่ามะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม 2636.3+2793.2 ยูนิต/มล. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) นอกจากนี้ยังพบว่า ค่าคะแนน RMI ในมะเร็งรังไข่ระยะเริ่มต้น 2161.0+9 น้อยกว่ามะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม 56583.6+71796.5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) นอกจากนี้ยังพบว่าผลอัลตร้าซาวด์ การหมดประจำเดือน และขนาดของเนื้องอก มีความสัมพันธ์กับระยะความรุนแรงของมะเร็งรังไข่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่มีความสัมพันธ์กับระยะความรุนแรงของการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว

สรุป: จากผลการวิจัยควรคัดกรองมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวในผู้หญิงภาวะหมดประจำเดือน โดยการใช้ ค่า CA125 และอัลตร้าซาวด์ ทำให้สามารถตรวจพบได้ในระยะเริ่มแรก ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้อย่างรวดเร็ว และจะสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีพผู้ป่วยได้มากขึ้น

References

International Agency for Research on Cancer [IARC]. Globocan 2012 [Online] 2013 [cited 2016 Sep 26]. Available from: http://globocan.iarc.fr/Pages/fact_sheets_population.aspx

รักชาย บุหงาชาติ. สถานการณ์ปัจจุบันของมะเร็งรังไข่. สงขลานครินทร์เวชสาร 2550; 25:537-47

Das PM, Bast RC, Jr. Early detection of ovarian cancer. Biomark Med. 2008; 2:291-303

Ovarian cancer statistics [Internet]. Centers for disease control and prevention. 2016 [cited 2017 Apr 9]. Available from: https://www.cdc.gov/cancer/ovarian/statistics/

ว่าที่ร้อยตรีวัชรินทร์ เฉิดฉิ้ม. การพัฒนาและการตรวจสอบความถูกต้องของคะแนนการทํานายการวินิจฉัยก่อนผ่าตัดมะเร็งรังไข่ระยะเริ่มต้น. (วิทยานิพนธ์) สาขาระบาดวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2562.

Insin P, Prueksaritanond N. Evaluation of Four Risk of Malignancy Indices (RMI) in the Preoperative Diagnosis of Ovarian Malignancy at Rajavithi Hospital. 2013; 21:163-175

Yamamoto Y, Yamada R, Oguri H, Maeda N, Fukaya T. Comparison of four malignancy risk indices in the preoperative evaluation of patients with pelvic masses. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol. 2009; 144:163-7

Prat J. FIGO's staging classification for cancer of the ovary, fallopian tube, and peritoneum: abridged republication. 2015; 26(2):87-9

Ovarian cancer: causes, symptoms, and treatments [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 9]. Available from: http://www.medicalnewstoday.com/articles/159675

Jacobs I, Oram D, Fairbanks J, Turner J, Frost C, Grudzinskas JG. A risk of malignancy index incorporating CA 125, ultrasound and menopausal status for the accurate preoperative diagnosis of ovarian cancer. Br J Obstet Gynaecol. 1990; 97:922-9

Karst AM, Drapkin R. Ovarian cancer pathogenesis: a model in evolution. J Oncol. 2010; 2010(932371):1-10

Rojas V, Hirshfield KM, Ganesan S, Rodriguez-Rodriguez L. Molecular characterization of epithelial ovarian cancer: implications for diagnosis and treatment. Int J Mol Sci. 2016; 17(2113):1-23

American Cancer Society. Ovarian Cancer Early Detection, Diagnosis, and Staging. cancer.org |1.800.227.2345. Last Revised: 2018 April 11.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-04-30