ผลของการให้บริการแพทย์แผนไทยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่อยู่ในการดูแลระยะกลาง บริบทหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
Main Article Content
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: แพทย์แผนไทยมีบทบาทในการบำบัด รักษาและฟื้นฟูสุขภาพ เป็นหนึ่งในบริการในโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการดูแลผู้ป่วยกับแพทย์แผนปัจจุบันและนักสหวิชาชีพอื่น ๆ จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการนวดไทยกับการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตก่อนหน้านี้ พบว่า การนวดไทยช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยให้ทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะกลาง
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของบริการแพทย์แผนไทยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่อยู่ในการดูแลระยะกลาง ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
วิธีการศึกษา: เป็นวิจัยกึ่งทดลองแบบ One Group Pre – Post Test Design โดยนำเทคนิคทางแพทย์แผนไทย ประกอบด้วย การนวดไทยและการประคบสมุนไพร มาใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะการดูแลระยะกลาง รวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เช่น เพศ อายุ โรคประจำตัว ชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง การฟื้นฟูสมรรถภาพ และเก็บข้อมูลความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันโดยใช้ The Modified Barthel Activities of Daily Index (mBAI) ประเมินมุมการเคลื่อนไหว (Range of motion; ROM) ของข้อไหล่ด้านที่อ่อนแรง และประเมินระดับความปวดของไหล่ด้านที่อ่อนแรงโดยใช้ Numerical Pain Rating Scale และประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ โดยใช้แบบสอบถาม EQ-5D-5L (QOL) ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา เปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังในตัวแปร Pain Scale, mBAI และ QOL โดยใช้สถิติ Wilcoxon’s signed rank test
ผลการศึกษา: ผลการประเมินร่างกายก่อนและหลังการรับบริการทางแพทย์แผนไทยจำนวน 10 ครั้ง พบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่าอาสาสมัครมีปัญหาการกลืนลดลงจากร้อยละ 55.56 เป็นร้อยละ 27.78 (p-value-=0.176) และปัญหาข้อไหล่ลดลงจากร้อยละ 38.89 เป็นร้อยละ 27.78 (p-value-=0.725) ส่วนผลการประเมินคะแนนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน และคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเพิ่มขึ้นจาก 7.17 ±4.73 คะแนน เป็น 12.83 ±7.00 คะแนน (p-value <0.001) และจาก 40.33 ±22.74 คะแนน เป็น 76.77 ± 25.86 คะแนน (p-value <0.001) ตามลำดับ ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยอาการปวดลดลงจาก 2.78 ±2.37 คะแนน เหลือ 1.89 ±1.81 คะแนนแต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ (p-value 0.077)
สรุปผลและข้อเสนอแนะ: การฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยบริการแพทย์แผนไทยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะการดูแลระยะกลางมีประสิทธิผลที่ดี ช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ควรส่งเสริมโรงพยาบาลให้มีบริการด้านนี้อย่างทั่วถึง
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
Towanabut S, Hanchaipitakkul S, Tantiritsak T, Termklinchan T, Laoraratsai L, Traicharoenwong J. Stroke. Department of Medical Services, Ministry of Public Health; 2014.
Pacharaviwatpong P. Common problems of upper extremity in stroke patients. J Thai Rehabil Med. 2002;12(2):44-62.
Tikham S, Songthab A. The treatment in stroke with Thai traditional medicine. Journal of Southern Technology. 2022;15(2):123-31.
Department of Thai Traditional and Alternative Medicine. Thai traditional and alternative medicine clinical practice guideline for intermediate care. Nonthaburi: Ministry of Public Health; 2020.
Chartsuwan J, Peanpadungrat P, Itharat A, Panichakarn N. Comparative study on efficacy of physiotherapy and physiotherapy combined with Thai massage on rehabilitation outcome and quality of life of ischemic stroke patients. Thammasat Medical Journal. 2017;17(3):356-64.