ความชุกของผู้ป่วยโรคต้อหินในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

Main Article Content

ทันที ศรีสุขคำ
ชินดนัย ธรรมขันธา
เบญญากร ใจหงษ์
พิชญ์นรี ไชยนิตย์

บทคัดย่อ

ความเป็นมา


โรคต้อหินถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดของประชากรโลกและรวมถึงประเทศไทย โดยพบว่าความชุกของโรคต้อหินทั่วโลกมีมากถึง ร้อยละ3.54 และ ในประเทศไทยมีมากถึงร้อยละ 3.80 และหากไม่รักษาผู้ป่วยโรคต้อหินอาจสูญเสียการมองเห็นและตาบอดได้ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ยังไม่มีการวิจัยหาความชุกของโรคต้อหิน คณะผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาโดยเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ได้รับการผ่าตัดโรคต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเป็นตัวแทนเนื่องจากผู้เข้ารับการรักษามักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน และการตรวจประเมินต้อหินหลังผ่าตัดต้อกระจกจะเห็นได้ชัดเจนกว่าตรวจในผู้ที่ยังไม่ได้รับการรักษา


วัตถุประสงค์


เพื่อหาความชุกของผู้ป่วยโรคต้อหินและชนิดของโรคต้อหินที่พบ ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์


วิธีการศึกษา


เป็นการศึกษาแบบเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยอายุ 41-90 ปี ที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยใช้ Intraocular pressure (IOP) และ Cup-to-disc ratio (C:D ratio) เป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นโรคต้อหิน และแบ่งชนิดของต้อหินผ่านดุลยพินิจของจักษุแพทย์


ผลการศึกษา


จากผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 1,562 คน เป็นชาย 704 คนและหญิง 858 คน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคต้อหิน 228 คน คิดเป็นร้อยละ 14.60 โดยส่วนใหญ่เป็นต้อหินมุมเปิดชนิดความดันลูกตาปกติ 139 คน คิดเป็นร้อยละ 8.90


สรุปและข้อเสนอแนะ


ความชุกของโรคต้อหินในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์คิดเป็นร้อยละ 14.60 โดยมีชนิดของต้อหินที่พบมากที่สุดคือ ต้อหินมุมเปิดชนิดความดันลูกตาปกติ โดยความชุกโรคต้อหินของผู้ป่วยในการศึกษานี้ ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับความชุกของผู้ป่วยทั้งประเทศและสูงกว่าการศึกษาอื่นที่ผ่านมา จึงแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองโรคต้อหินในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกของโรคที่ยังไม่มีอาการ และรักษาได้อย่างทันท่วงที

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ

References

. Quigley HA, Broman AT. The number of people with glaucoma worldwide in 2010 and 2020. Br J Ophthalmol. 2006;90(3):262-7.

. Tham YC, Li X, Wong TY, Quigley HA, Aung T, Cheng CY. Global prevalence of glaucoma and projections of glaucoma burden through 2040: a systematic review and meta-analysis. Ophthalmology. 2014;121(11):2081-90.

. Bourne RR, Sukudom P, Foster PJ, Tantisevi V, Jitapunkul S, Lee PS, et al. Prevalence of glaucoma in Thailand: a population based survey in Rom Klao District, Bangkok. Br J Ophthalmol. 2003;87(9):1069-74.

. Moyer VA; U.S. Preventive Services Task Force. Screening for glaucoma: U.S. Preventive Services Task Force Recommendation Statement. Ann Intern Med. 2013;159(7):484-9.

. Asanathong D. Prevalence of glaucoma patient at Sisaket hospital during world glaucoma day. Medical Journal of Srisaket Surin Buriram Hospitals. 2020;35:749-6.

. McMonnies CW. Glaucoma history and risk factors. J Optom. 201710(2):71-8.