The ความแตกฉานทางสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
Main Article Content
บทคัดย่อ
ที่มา ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระยะที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นอยู่และการดำรงชีวิต กล่าวคือ เปลี่ยนแปลงจากโรคติดต่อ (Communicable disease) ไปสู่โรคที่ไม่ติดต่อ (Non - Communicable disease)
จากข้อมูลสถิติพบว่า ในปีพ.ศ. 2557 มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุความดันโลหิตสูง เป็นจำนวน 7,115 คนซึ่งแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาค เช่นเดียวกับการรายงานประจำปี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ปี 2554-2556 พบว่า อัตราตายต่อแสนประชากรด้วยโรคความดันโลหิตสูง เท่ากับ 3.47,17.16, 17.61 ตามลำดับ และได้จัดการการคัดกรองประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในพื้นที่จังหวัดชียงรายพบว่าอำเภอแม่จันเป็นพื้นที่พบผู้ป่วยมาที่สุดเป็นอันดับที่สองรองจากอำเภอพาน (10,301 คน) วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับความแตกฉานทางสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงในการบริโภค ของกลุ่มผู้สูงอายุตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย
วิธีการศึกษา การวิจัยภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จำนวน 302 คน ใช้การสุ่มแบบตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Sampling Technique) เครื่องมือที่ใช้แบบสอบถามประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป พฤติกรรมเสี่ยงในการบริโภคอาหาร และความแตกฉานทางสุขภาพ ซึ่งผ่านการตรวจความตรงตามเนื้อหาด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน และมีค่าความเชื่อมั่นที่ 0.954 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson’s Correlation Coefficient)
ผลการวิจัย พบว่าร้อยละ 51.3 ของผู้สูงอายุ มีระดับความแตกฉานทางสุขภาพอยู่ในระดับสูงในทุกด้าน พฤติกรรมเสี่ยงในการบริโภคอาหารส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ59.3 มีปัจจัยที่สัมพันธ์ได้แก่ ปัจจัยด้านสถานภาพสมรส (p=0.21) สภาพการอยู่อาศัย (p<0.01) จำนวนผู้อาศัยร่วมด้วย (p=0.041) รายได้ของครอบครัว (p=0.027) ระดับการศึกษา (p<0.01) การประกอบอาชีพ (p<0.01) บทบาทหน้าที่ทางสังคม (p<0.01) ภาวะสุขภาพโดยรวม (p<0.01) พฤติกรรมเสี่ยงต่อการบริโภคอาหาร(p=0.032)และ ความสามารถในการเขียน อ่าน พูดคุย ได้ยิน มองเห็น กิจวัตรประจำวัน (p<0.01) มีความสัมพันธ์กับความแตกฉานทางสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ p<0.05 และ p<0.01
สรุปผล ระดับความแตกฉานทางสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุอยู่ในระดับสูงในทุกด้าน ดังนั้นควรมีการพัฒนาความแตกฉานทางด้านสุขภาพในผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มในพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาระดับความแตกฉานทางสุขภาพ