เสียงฟู่หัวใจชนิดปกติ ในเด็กก่อนปฐมวัย ในจังหวัดอุตรดิตถ์
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ความเป็นมา
เสียงฟู่หัวใจตรวจพบได้บ่อยในเด็ก แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเสียงฟู่หัวใจชนิดปกติ ที่ไม่มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ แต่เสียงฟู่หัวใจอาจเป็นอาการแสดงแรกที่เจอได้ในโรคหัวใจที่มีพยาธิสภาพ เสียงฟู่หัวใจจึงเป็นอาการแสดงที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลทั้งผู้ปกครองและแพทย์
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของเสียงฟู่หัวใจชนิดปกติในเด็กก่อนปฐมวัย ที่ตรวจพบเสียงฟู่หัวใจโดยไม่มีอาการผิดปกติ ในจังหวัดอุตรดิตถ์
วิธีการศึกษา
ทำการศึกษาข้อมูลย้อนหลังในเด็กก่อนปฐมวัยที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ช่วงอายุระหว่าง 1 ปีถึง 6 ปี ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้รับการฟังเสียงฟู่หัวใจโดยกุมารแพทย์ และตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2561 ถึง 30 กันยายน 2561
ผลการศึกษา
เด็กก่อนปฐมวัยที่ไม่มีอาการผิดปกติ ได้รับการฟังเสียงหัวใจ 4,100 คน (เพศชาย 52.4%) พบว่าได้ยินเสียงฟู่หัวใจ 38 คน (0.9%) เมื่อทำการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง พบอาการเสียงฟู่หัวใจชนิดปกติ 36 คน (94.7%) โดยในจำนวนนี้ เป็นเพศชาย 19 คน (52.8%) เพศหญิง 17 คน (47.2%) มีอายุเฉลี่ย 4.3±1.5 ปี, น้ำหนักเฉลี่ย 16.7±5.1 กก., ส่วนสูงเฉลี่ย 101.5±11.4 ซม., อัตราส่วนกว้างที่สุดของหัวใจเฉลี่ย 0.5±0.3 โดยไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติระหว่างเพศชายและหญิง ทุกรายฟังเสียงฟู่หัวใจเป็น systolic ejection murmur ดังระดับ 2-3/6 ฟังได้ชัดที่สุดบริเวณขอบล่างซ้ายของกระดูกสันอก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเสียงฟู่หัวใจชนิดปกติ ประเภท Still’s murmur และไม่พบความผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ทรวงอกและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
สรุปและข้อเสนอแนะ
เสียงฟู่หัวใจชนิดปกติ ตรวจเจอได้บ่อยในเด็กก่อนปฐมวัยที่สุขภาพแข็งแรง และมีเสียงฟู่หัวใจที่เป็นลักษณะเฉพาะ การซักประวัติและฟังเสียงหัวใจอย่างละเอียดและถูกต้อง ร่วมกับการตรวจเอกซเรย์ทรวงอกและ/หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเบื้องต้น ก็เพียงพอต่อการวินิจฉัย ทั้งนี้ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปควรฝึกฟังเสียงฟู่หัวใจปกติให้คุ้นเคยเพื่อลดการส่งตรวจที่ไม่จำเป็น
คำสำคัญ: เสียงฟู่หัวใจ เสียงฟู่หัวใจชนิดปกติ เสียงฟู่หัวใจชนิดมีพยาธิสภาพของหัวใจ