ปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคปอดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

Main Article Content

Daranee Intralawan
Pamornsri Sriwongpan

บทคัดย่อ

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคปอด การค้นหาวัณโรคปอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญ แต่ผู้ป่วยเบาหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคปอดในผู้ป่วยโรคเบาหวานจะสามารถช่วยวางแผนการค้นหาได้อย่างเหมาะสม


วัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคปอดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์


วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ย้อนหลังแบบกลุ่มควบคุม (retrospective case control study)ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่สองโดยเก็บข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนของผู้ป่วยในช่วง มกราคม พ.ศ. 2555 ถึงธันวาคม พ.ศ. 2560 วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยเสี่ยงกับการเป็นวัณโรคปอด ด้วยวิธี multivariable logistic regression นำเสนอด้วยค่า adjusted odds ratio (AOR); 95% confident interval (CI) กำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติที่ p-value < 0.05 


ผลการศึกษา มีผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นวัณโรคปอด (Case) จำนวน 52 รายและมีผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่เป็นวัณโรคปอด (Control) จำนวน 153 ราย ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอด ได้แก่ เพศชาย (AOR 3.11; 95%CI 1.33-7.30; p-value 0.009) ค่าดัชนีมวลกาย <18.4 กก./ม² (AOR 80.88; 95% CI 15.77-414.91; p-value <0.001) และระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ( HbA1c) ที่มากกว่า 7% โดยระดับของ HbA1c ที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับการเป็นวัณโรคปอดเพิ่มขึ้น ระดับ HbA1c ที่ 7.1-8% (AOR 1.33; 95% CI 0.45-3.99; p-value 0.605) ระดับ HbA1c ที่ 8.1-9 % (AOR 2.06; 95% CI 0.66-6.41; p-value 0.210) และระดับ HbA1cที่ >9% (AOR 3.78; 95% CI 1.25-11.42; p-value 0.018)


สรุป  ผู้ป่วยโรคเบาหวานเพศชาย มีภาวะทุพโภชนาการ ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคปอดเพิ่มขึ้น ดังนั้นควรมุ่งเน้นคัดกรองค้นหาวัณโรคปอดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีปัจจัยเหล่านี้เป็นลำดับแรก 


 

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ