การให้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลตามการรับรู้ของนักศึกษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
Keywords:
คุณค่าวิชาชีพพยาบาล, การรับรู้, นักศึกษาพยาบาลAbstract
การวิจัยเชิงสำรวจนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลตามการรับรู้ของนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 – 4 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2550 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ จำนวน 247 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บข้อมูลโดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาล ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยได้แนวคิดมาจากหนังสือจริยศาสตร์ทางการพยาบาล มีจำนวน 20 ข้อ ลักษณะคำถามเป็นมาตราส่วนประเมินค่า (rating scale) 4 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง และน้อย หาความตรงตามเนื้อหา (content validity) จากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ค่าความเชื่อมั่น (Cronbach’s alpha coefficient) เท่ากับ .81 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความแปรปรวนแบบทางเดียว (One Way Analysis of Variance; ANOVA หรือ F – test) และการทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe)
ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. คะแนนเฉลี่ยการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลโดยรวมของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1, ปีที่ 2, ปีที่ 3, ปีที่ 4 อยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.21, 3.45, 3.30, 3.46 ตามลำดับ SD = .29, .39, .32, .34 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลรายข้อ พบว่าข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 4 ข้อแรก ได้แก่ วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ (x̄ = 3.82) วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีความเสียสละ ความรับผิดชอบ และมีน้ำใจที่จะช่วยเหลือบุคคลมากกว่าอาชีพอื่น (x̄ = 3.70) การประเมินอาการและความรู้สึกของผู้ป่วยมีความสำคัญต่อการปฏิบัติการพยาบาล (x̄ = 3.56) และ การปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวมต่อผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณมีความสำคัญต่อการประกอบวิชาชีพพยาบาล (x̄ = 3.56) และข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด 3 ข้อแรก ได้แก่ วิชาชีพพยาบาลปัจจุบันได้รับการยอมรับจากแพทย์ในการปฏิบัติงานร่วมกันและมีโอกาสเลือกแพทย์เป็นคู่ครองสูง (x̄ = 2.61) พยาบาลสามารถปฏิบัติการพยาบาลนอกเหนือคำสั่งของแพทย์ได้ตามความเหมาะสม (x̄ = 2.69) และ พยาบาลมีสิทธิในการตัดสินใจ และสามารถปฏิบัติการพยาบาลทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลด้วยตนเองได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากแพทย์ (x̄ = 2.94)
2. นักศึกษาพยาบาลชั้นปีต่างกันมีการรับรู้คุณค่าวิชาชีพแตกต่างกัน โดยนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 รับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลสูงกว่านักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .001 และนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 รับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลสูงกว่านักศึกษา พยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรมีการศึกษาคุณค่าพยาบาลวิชาชีพตามการรับรู้ของนักศึกษา พยาบาลตั้งแต่เริ่มเข้ามาเป็นนักศึกษาพยาบาลจนสำเร็จการศึกษา โดยการสนทนากลุ่ม หรือสัมภาษณ์ แบบเจาะลึกและบรรจุเป็นเนื้อหาหนึ่งในการเรียนการสอนวิชาการพยาบาล เพื่อเป็นข้อมูลในการเรียนรู้ ปลูกฝังและพัฒนาคุณค่าวิชาชีพพยาบาล สำหรับนักศึกษาพยาบาล
Downloads
Downloads
How to Cite
Issue
Section
License
Article published Is the copyright of the Journal of Health and Nursing Research (Boromarajonani College of Nursing, Bangkok) Cannot be republished in other journals