มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเข้าสู่ภาวะวิกฤต

ผู้แต่ง

  • กนกวรรณ สินลักษณทิพย์ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • สมชาติ โตรักษา รองศาสตราจารย์ ภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • วัชระ ก้อนแก้ นายแพทย์ระดับชำนาญการ โรงพยาบาลโพธาราม
  • พีระ ครึกครื้นจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

มาตรฐานการดูแลผู้ป่วย, ความเสี่ยงสูง, การเข้าสู่ภาวะวิกฤต, งานประจำสู่งานวิจัย, การวิจัยพัฒนาเชิงทดลอง, ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

บทคัดย่อ

เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำเป็นต้องมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลอาการและช่วยเหลือผู้ป่วยตลอดเวลา หากเกิดภาวะวิกฤต ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ดังนั้นจึงต้องมีมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติ จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การวิจัยพัฒนาเชิงทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนหลังการทดลองนี้ เพื่อพัฒนารูปแบบการบริการผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง และพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤตที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ของโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข แนวปฏิบัติประกอบด้วย ผังการไหลเวียนของงานจำแนกเป็น 5 ระยะ ประกอบด้วย ระยะแรกรับเข้าสู่ภาวะที่ต้องเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลง; ระยะเฝ้าระวัง จนถึง 1 วันก่อนพ้นระยะเฝ้าระวัง; ระยะผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤติ; ระยะ 1 วัน ก่อนพ้นระยะเฝ้าระวัง; และ พ้นระยะเฝ้าระวังและจำหน่าย โดยกิจกรรมของแต่ละระยะได้ออกแบบให้มีความเหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยตามกระบวนการหลักของหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง โรงพยาบาลโพธาราม โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง แล้วนำมาจัดทำเป็นวิธีปฏิบัติงานที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร ตามระบบงานมาตรฐาน ที่ประกอบด้วยกิจกรรม 9 ขั้นตอน มาตรฐานการดูแลที่พัฒนาขึ้นได้ถูกนำไปทดลองใช้ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิงโรงพยาบาลโพธาราม ระหว่าง 1 มีนาคม 2553 ถึง 15 มิถุนายน 2553 โดยให้โรงพยาบาลบ้านโป่งเป็นกลุ่มควบคุม ในงานบริการผู้ป่วย 131 ครั้ง ผู้เกี่ยวข้อง 386 คน เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ระหว่างก่อนกับหลังการนำมาตรฐานไปทดลอง ด้วยสถิติพรรณนา ค่าสถิติไคสแควร์ ค่าสถิติที ค่าสถิติแพร์ที และค่าสถิติวิลค็อกสัน ที่ระดับแอลฟา 0.05

ผลการทดลองใช้พบว่า 1. มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยที่พัฒนาขึ้นตามข้อกำหนดของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพสามารถเพิ่มคุณภาพการบริการผู้ป่วยโดยไม่ต้องเพิ่มทรัพยากร (p<0.01) 2. มาตรฐานการดูแลที่พัฒนาขึ้นเป็นที่ยอมรับของผู้ปฏิบัติงาน และ 3. ความพึงพอใจของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และ ผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.005, 0.008, และ p < 0.001 ตามลำดับ)

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย