ปัจจัยคัดสรรที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อม
คำสำคัญ:
ภาวะซึมเศร้า, ข้อเข่าเสื่อม, ผู้สูงอายุบทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง อายุ เพศ รายได้ระยะเวลาการเจ็บป่วย ภาวะทุพพลภาพ ความปวด ความเครียด และการสนับสนุนทางสังคมกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก คลินิกกระดูก และข้อ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เก็บโดยวิธี simple random sampling จำนวน 150 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อม แบบวัดภาวะทุพพลภาพ แบบประเมินความปวด แบบวัดความเครียดจากความเจ็บป่วยด้วยโรค ข้อเข่าเสื่อม แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม และแบบประเมินภาวะซึมเศร้า ซึ่งแบบวัดความเครียดจากความเจ็บป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อม และแบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม ได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และหาค่าความเที่ยงจากการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ .93 และ .93 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมน (Spearman Rank-Order Correlation Coefficient: rs) และค่าสัมประสิทธิ์อีตา (Eta Coefficient : η) โดยการกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 0.05
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมไม่มีภาวะซึมเศร้า (X̄=12.91)
2. ความปวด มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับต่ำกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 (rs=.205)
3. ความเครียด มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 (rs=.569)
4. รายได้ ภาวะทุพพลภาพ และการสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 (rs=-.208, -.215 และ-.164 ตามลำดับ)
5. อายุ เพศ และระยะเวลาเจ็บป่วย มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
Downloads
Downloads
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิจัยสุขภาพและการพยาบาล (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ) ไม่สามารถนำไปตีพิมพ์ซ้ำในวารสารฉบับอื่น