ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการสัมผัสเลือดและ/หรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยของ บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร

ผู้แต่ง

  • สุภรณี โพธิสา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สรันยา เฮงพระพรหม ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อานัน นิ่มนวล โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า สังกัดกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร

คำสำคัญ:

การสัมผัสเลือดและ/หรือสิ่งคัดหลั่ง, ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยง, บุคลากรทางการแพทย์

บทคัดย่อ

ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการสัมผัสเลือดและ/หรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง ทำการเก็บข้อมูลในเดือน กันยายน - ธันวาคม 2550 โดยการส่งแบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเองไปยังบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 438 คน อัตราการตอบกลับคิดเป็นร้อยละ 87.6 และได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวแทนผู้บริหารจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 คน ร่วมกับการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษา พบว่า โรงพยาบาลมีการกำหนดนโยบายการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการสัมผัสเลือดและ/หรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย กำหนดแนวทางการปฏิบัติก่อนและหลังการสัมผัสเลือดและ/หรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยตามแนวทางมาตรฐานระดับชาติและระดับสากล กำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการ กำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ และตัวชี้วัดในการดำเนินงาน สำหรับการปฏิบัติของบุคลากร พบว่า ร้อยละ 34.5 และ 69.6 ของบุคลากรปฏิบัติตามแนวทางก่อนการสัมผัสเลือดและ/หรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยอยู่ในระดับดี ในด้านการป้องกันอุบัติเหตุและด้านสุขอนามัยและสุขาภิบาล และร้อยละ 46.3 ของบุคลากรปฏิบัติอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงในด้านการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ส่วนแนวทางหลังการสัมผัสเลือดและ/หรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย พบว่า ร้อยละ 48.5 ของบุคลากรปฏิบัติอยู่ในระดับต้องปรับปรุง จากวิเคราะห์ความสอดคล้องและความแตกต่างระหว่างระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการสัมผัสเลือดและ/หรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยกับการปฏิบัติของบุคลากร พบว่า การล้างมือทันทีเมื่อมีการสัมผัสเลือดและ/หรือสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย (ร้อยละ 98.1) เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติที่โรงพยาบาลกำหนดไว้มากที่สุด และ การไม่ได้รักษาต่อหลังจากการสัมผัสเลือดและ/ หรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย (ร้อยละ 80.2) เป็นการปฏิบัติที่แตกต่างจากแนวทางการปฏิบัติมากที่สุด

ผลการศึกษาที่ได้จากงานวิจัยนี้จะเป็นข้อมูลป้อนกลับให้กับโรงพยาบาลเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการทบทวนและพัฒนางานด้านระบบการบริหารจดการความเสี่ยงด้านการสัมผัสเลือดและ /หรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย