นวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิด: กรณีศึกษาโรงพยาบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

ผู้แต่ง

  • เสาวนีย์ หนุนนาค สาขาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • พัทยา แก้วสาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • บุญทิพย์ สิริธรังศรี สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

คำสำคัญ:

นวัตกรรม, การประเมินภาวะตัวเหลือง, ทารกแรกเกิด

บทคัดย่อ

บทนำ: ภาวะตัวเหลืองถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และพบบ่อยในทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่การเสียชีวิตของทารกแรกเกิดช่วง 3-5 วันแรก ปัจจุบันการประเมินภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดใช้เครื่องวัดระดับบิลลิรูบินทางผิวหนัง แต่เนื่องจากเครื่องดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูง มักมีการใช้เครื่องในโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น  ดังนั้น  เพื่อให้มีการประเมินภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดมากขึ้น  ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิดด้วยสายตา ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำได้ง่าย มีประโยชน์ในการนำไปประเมิน และดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองได้อย่างทันท่วงที

วัตถุประสงค์การวิจัย: เพื่อสร้างนวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิดด้วยสายตา และศึกษาประสิทธิภาพของการใช้นวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบที่สร้างขึ้นโดยการเปรียบเทียบผลการคัดกรองสีผิวระหว่างการคัดกรองด้วยนวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบ กับการคัดกรองในบรรยากาศห้อง เมื่อเทียบกับค่าอ้างอิง และศึกษาความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพในการใช้นวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบ

ระเบียบวิธีวิจัย: การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มทารกแรกเกิดคลอดครบกำหนดอายุไม่เกิน 48 ชั่วโมง จำนวน 42 คน และกลุ่มพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ นวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิด คู่มือการใช้กล่องในรูปแบบลิงก์วิดีโอ  แบบบันทึกการคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิด แบบบันทึกผลการประเมินความสอดคล้องของการคัดกรองภาวะตัวเหลืองทางสีผิวของทารกแรกเกิด และแบบสอบถามความพึงพอใจในการใช้นวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย เเละส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัย: 1) นวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิดประกอบด้วย ส่วนที่ 1 กล่องครอบตัวทารก มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งทำจากฟิวเจอร์บอร์ดสีดำบุผนังภายในด้วยผ้าสีดำ ผนังด้านซ้ายเปิดเพื่อการสังเกตสีผิว ด้านบนเจาะช่องเพื่อวางโคมไฟ กล่องจะถูกนำมาวางครอบลงพอดีบน crib เด็กอ่อน และเบาะรองที่ปูด้วยผ้าขาว ส่วนที่ 2 โคมไฟส่องสีผิว หลอดแอลอีดี แสงสีขาวขนาด 3 วัตต์ 2) ประสิทธิภาพของนวัตกรรมพบว่า (1) การคัดกรองภาวะตัวเหลืองทางสีผิวของทารกแรกเกิดโดยใช้ นวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิดมีความสอดคล้องกับค่าอ้างอิงร้อยละ 100 ในช่วงค่าระดับบิลลิรูบินในซีรั่ม ไม่เกิน 5.85 มก./ดล. (2) ผลการเปรียบเทียบความสอดคล้องโดยรวมพบว่า การคัดกรองภาวะตัวเหลืองทางสีผิวของทารกแรกเกิดโดยใช้นวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิดมีความสอดคล้องกับค่าอ้างอิงเท่ากับร้อยละ 21.43 แต่การคัดกรองในบรรยากาศห้องมีความสอดคล้องกับค่าอ้างอิงเท่ากับร้อยละ 19.05 3) ผลความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพในการใช้นวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิดโดยรวมอยู่ในระดับมาก

ข้อเสนอแนะ: ควรศึกษาต่อยอดเรื่องการควบคุมสิ่งแวดล้อมด้านแสง หลักเกณฑ์การประเมินภาวะตัวเหลืองทางสีผิวด้วยตาเปล่า และวัสดุของกล่องให้มีความคงทน เพื่อพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ต้นแบบช่วยคัดกรองภาวะตัวเหลืองจากสีผิวของทารกแรกเกิดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการทดแทนอุปกรณ์การคัดกรองภาวะตัวเหลืองทางสีผิวของทารกแรกเกิดซึ่งมีราคาสูง 

References

Ministry of Public Health. Annual report of health department 2014. Nonthaburi: Planning Division; 2014. (in Thai)

Punmetarit B. Nursing care of acute and chronically III infants. Bangkok: Chanmuengkanpim; 2012. (in Thai)

Chanvitan P. Neonatal jaundice. In: Vejvanichsanong P, Anantasayree W. editors. General pediatrics. Songkhla: Chan Mueang Printing; 2007. p.447-77.

Chaisawan K, Yaemsuda T. Factors related to hyperbilirubinemia in newborn. Royal Thai Navy Medical Journal 2018; 45(2):235-49. (in Thai)

Kaewprapai S, Kitcharoen S, Sithithaworn J. Evaluation of guideline for assessment of jaundice in newborns at Khlong Luang hospital, Pathum Thani province. Journal of Science and Technology 2016;24(1):149-53. (in Thai)

Kidjawan N. Design thinking process: New perspective in Thai healthcare system. Thai Journal of Nursing Council 2018;33(1):5-14. (in Thai)

Apaipipat C. Lighting system design techniques. Bangkok: Technology Promotion Association (Thailand-Japan) Press; 2002. (in Thai)

Kramer LI. Advancement of dermal icterus in the jaundiced newborn. Am J Dis Child 1969;118(3):454-8.

Varughese PM. Kramer’s scale or transcutaneous bilirubinometry: the ideal choice of a pediatrician? Can we trust our eyes? Int J Contemp Pediatrics 2019;6(5):1794-801.

Atthakorn S. Daylighting in semi-open atrium for sustainability: Case studies of educational buildings in Bangkok Suburbs. Journal of Architectural/Planning Research and Studies 2021;18(1):153-69. (in Thai)

Jiratkulthana S. Lighting and Human Behavior. PSRU Journal of Science and Technology 2020;5(1):13-22. (in Thai)

T.S.M. Science Limited. Quotation for Maternal and Child Hospital [Internet]. 2018. [cited 2021 Sep 13]. Available from: https://apps.hpc.go.th/publish/web/publish/2018/121011-20181221095036/8f9d7be893d1dc19ba2872ebb4f9b92b.pdf.

Thong YH, Rahman AA, Choo M, Tor ST, Robinson MJ. Dermal icteric zones and serum bilirubin levels in neonatal jaundice. Singapore Med J 1976;17(3):184–5.

Bakar AHA, Hassan NM, Zakaria A, Halim KHA, Halim AAA. Jaundice (Hyperbilirubinemia) detection and prediction system using color card technique. 2017 IEEE 13th International Colloquium on Signal Processing & its Applications (CSPA). 2017:208-13.

Pouwongsa S. Conflict and conflict management of professional nurses at The Crown Prince Hospitals Sawangdandin. North-Eastern Primary Health Care Journal 2008;22(Special):45-56. (in Thai)

Punthawornwong S, Boonyoung N, Tongsook P. Head nurses’ shared vision and adoption process of vision for implementation of registered nurses as perceived by registered nurses in general hospitals, Southern Thailand. Songklanagarind Journal of Nursing 2015; 35(3):141-56. (in Thai)

Kittiban K, Cheevakasemsook A, Phuangsomjit C. Occupational fatigue management in professional nurses at Phra Nakhon Si Ayutthaya hospital. Thai Journal of Cardio-Thoracic Nursing 2021; 32(1):121-36. (in Thai)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-22