ผลของโปรแกรมการสนับสนุนการดูแลในครอบครัวต่อภาระในการดูแลของผู้ดูแลหลักที่ให้การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม

ผู้แต่ง

  • ปณวัตร สันประโคน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • อรนุช ชูศรี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

คำสำคัญ:

ภาระในการดูแล, ผู้ดูแลหลักในครอบครัว, ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม, แรงสนับสนุนทางสังคม

บทคัดย่อ

     ภาวะสมองเสื่อมเป็นการสูญเสียความสามารถในการรู้คิดและการทำหน้าที่ ทำให้ผู้ป่วยมักแสดงพฤติกรรมและอาการทางจิต จึงจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้ดูแลในครอบครัวเกือบทุกด้าน อันนำไปสู่การเกิดภาระในการดูแลกับผู้ดูแลหลัก งานวิจัยกึ่งทดลองนี้จึงมุ่งศึกษา ผลของโปรแกรมการสนับสนุนการดูแลในครอบครัวต่อภาระในการดูแลของผู้ดูแลหลักที่ให้การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในชุมชน กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ดูแลหลักในครอบครัวที่ให้การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมที่บ้านต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน จำนวน 30 คน ทำการสุ่มโดยการจับสลากจัดกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 คน กลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามปกติร่วมกับได้รับโปรแกรมการสนับสนุนการดูแลในครอบครัว จำนวน 5 ครั้ง ครั้งละ 15 – 60 นาที เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ประกอบด้วยกิจกรรมกลุ่มใหญ่ 2 ครั้งและกิจกรรมดูแลต่อเนื่องโดยการเยี่ยมบ้าน 2 ครั้งและติดตามทางโทรศัพท์อีก 2 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามภาระของผู้ดูแลฉบับภาษาไทย และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบสถิติที 

     ผลการศึกษาพบว่า ก่อนการทดลองกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม มีระดับภาระในการดูแลแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p> .05) แต่หลังจากเสร็จสิ้นโปรแกรม พบว่า ผู้ดูแลกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยของภาระในการดูแลลดลงและต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมการสนับสนุนการดูแลในครอบครัวสามารถลดภาระในการดูแลของผู้ดูแลได้ ดังนั้น จึงควรนำโปรแกรมนี้ไปใช้เพื่อจัดกิจกรรมดูแลครอบครัวที่มีบุคคลเจ็บป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมที่บ้านและใช้เป็นแนวทางในการจัดการดูแลของครอบครัว

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-11-28