การศึกษาการใช้ประโยชน์จากกระท่อมในการรักษาโรคของหมอพื้นบ้านภาคใต้
Main Article Content
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์ ประเทศไทยยังพบหมอพื้นบ้านภาคใต้ที่ใช้ประโยชน์ทางยาจากกระท่อมตามภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมา ดังนั้น เพื่อยืนยันการใช้ประโยชน์จากกระท่อมของหมอพื้นบ้านว่าเป็นไปตามคัมภีร์ตำราการแพทย์แผนไทยหรือไม่ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ตำรับยาที่มีกระท่อมเป็นส่วนประกอบในคัมภีร์ตำราการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม และศึกษาการใช้ประโยชน์จากกระท่อมเพื่อการรักษาโรคของหมอพื้นบ้าน
ระเบียบวิธีการศึกษา การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบผสม ประกอบด้วย 1) การศึกษาเชิงเอกสาร โดยรวบรวมและวิเคราะห์ตำรับยาที่มีกระท่อมเป็นส่วนประกอบจากคัมภีร์ตำราการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม 6 เล่ม และ 2) การศึกษาเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ร่วมกับการสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์ในการใช้กระท่อมเพื่อรักษาโรค อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย 8 จังหวัด จำนวน 39 คน
ผลการศึกษา การศึกษาเชิงเอกสาร พบตำรับยาที่มีกระท่อมเป็นส่วนประกอบในคัมภีร์ตำราการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม จำนวน 8 ตำรับ คือ 1) ยาประสะกระท่อม, 2) ยากล่อมอารมณ์สูตร 1, 3) ยากล่อมอารมณ์สูตร 2, 4) ยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร, 5) ยาแก้บิดลงเป็นเลือด, 6) ยาแก้บิดหัวลูก, 7) ยาทำให้อดฝิ่น และ 8) ยาประสะกาฬแดง การศึกษาเชิงคุณภาพ
พบว่า หมอพื้นบ้านภาคใต้จำนวน 39 คน ใช้ประโยชน์จากกระท่อมในแบบยาเดี่ยวจำนวน 65 รายการ (ร้อยละ 60.19) และแบบยาตำรับจำนวน 43 รายการ (ร้อยละ 39.81) โดยใช้ส่วนใบเป็นยามากที่สุด ร้อยละ 93.52 การต้มเป็นวิธีการปรุงยาที่หมอพื้นบ้านเลือกใช้มากที่สุด ร้อยละ 45.57 หมอพื้นบ้านใช้กระท่อมเพื่อการรักษาอาการปวดมากที่สุด คือ ร้อยละ 26.85 เมื่อจำแนกตามประเภท พบว่า หมอพื้นบ้านใช้กระท่อมแบบยาเดี่ยวและสดโดยไม่มีส่วนผสมอื่นเพื่อรักษาอาการท้องร่วงมากที่สุด คือ ร้อยละ 31.58 แต่ใช้กระท่อมแบบยาเดี่ยวและสดผสมน้ำกระสายยา เพื่อรักษาอาการไอมากที่สุดคือ ร้อยละ 40.34 ส่วนการใช้แบบยาตำรับ พบมีการใช้43 ตำรับ โดยหมอพื้นบ้านใช้ยาตำรับที่มีกระท่อมเป็นส่วนประกอบเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดมากที่สุดจำนวน 12 ตำรับ (ร้อยละ 27.91) รองลงมาคือ รักษาอาการปวดจำนวน 10 ตำรับ (ร้อยละ 23.26)
อภิปรายและสรุปผล การศึกษานี้พบตำรับยาที่มีกระท่อมเป็นส่วนประกอบในคัมภีร์ตำราการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม 8 ตำรับ เพิ่มขึ้นจากที่เคยมีการศึกษาไว้ 3 ตำรับ สามารถยืนยันได้ว่าหมอพื้นบ้านในภาคใต้ของประเทศไทยยังใช้ประโยชน์จากกระท่อมเพื่อการรักษาโรคทั้งในแบบยาเดี่ยวและยาตำรับ แต่ ไม่ตรงกับตำรับยาที่พบในคัมภีร์ตำราการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม หมอพื้นบ้านทุกคนใช้กระท่อมเพื่อการรักษาโรคตามองค์ความรู้ที่รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
Article Details
References
2. สมสมร ชิตตระการ. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพืชกระท่อม. ใน: สาวิตรี อัษณางค์กรชัย (บรรณาธิการ). พืชกระท่อมในสังคมไทย. ครั้งที่พิมพ์ 1. กรุงเทพฯ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด; 2558. หน้า 11-13.
3. กนิษฐา ไทยกล้า. ภาพจำลองคนเรื่องผลของมิตรากัยนีนหรือสารสกัดจากใบกระท่อมต่อร่างกาย. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2557. (1 หน้า).
4. สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, ดาริกา ไสงาม. แบบแผนการใช้และผลกระทบต่อสุขภาพในผู้ใช้พืชกระท่อมแบบพื้นบ้าน. ใน: สาวิตรี อัษณางค์กรชัย (บรรณาธิการ). พืชกระท่อมในสังคมไทย. ครั้งที่พิมพ์ 1. กรุงเทพฯ: หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2558. หน้า 26.
5. อรุณพร อิฐรัตน์, รักเกียรติ จิรัญธร, สุนทรี วิทยนารถไพศาล, สายพิณ วิไลรัตน์. พืชกระท่อมมีฤทธิ์เป็นยาจริงหรือไม่. ใน: สาวิตรี อัษณางค์กรชัย (บรรณาธิการ). พืชกระท่อมในสังคมไทย. ครั้งที่พิมพ์ 1. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม. 2548. หน้า 115-123.
6. จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ พฤกษเคมีของพืชกระท่อม. ใน: สาวิตรี อัษณางค์ กรชัย (บรรณาธิการ). บทสรุปของพืชกระท่อม. ครั้งที่พิมพ์ 1. กรุงเทพฯ: หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2558. หน้า 15–20.
7. นิโลบล สัตยานุมัฏฐ์, อัมพร ไกรเพชร, ช่อลดา พันธุเสนา. หมอพื้นบ้านและผู้ป่วยที่ติดใบกระท่อม. ใน: สาวิตรี อัษณางค์กรชัย (บรรณาธิการ). พืชกระท่อมในสังคมไทย. ครั้งที่พิมพ์ 1. กรุงเทพฯ: สำนักงานงบประมาณความช่วยเหลือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (NAS). 2548. หน้า 116-121.
8. Watanabe K, Yano S, Horie S, Yamamoto LT. Inhibitory effect of mitragynine, an alkaloid with analgesic effect from Thai medicinal plant Mitragyna speciosa, on electrically stimulated contraction of isolated guinea-pig ileum through the opioid receptor. Life Sci. 1997;60(12):933-42.
9. Thongpradichote S, Matsumoto K, Tohda M, Takayama H, Aimi N, Sakai S, et al. Identification of opioid receptor subtypes in antinociceptive actions of supraspinallyadministered mitragynine in mice. Life Sci. 1998;62 (16):1371-8.
10. Purintrapiban J, Keawpradub N. Kansenalak S, Chittrakarn S, Janchawee B, Sawangjaroen K. Study on glucose transport in muscle cells by extracts from Mitragyna
speciosa (Korth) and mitragynine. Nat Prod Res. 2011; 25(15):1379-87.