การศึกษาย้อนหลังเปรียบเทียบภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ก่อนและหลังการได้รับโภชนศึกษา

Main Article Content

วีนัส วัยวัฒนะ
ดารณี คุระศรี

บทคัดย่อ

บทนำ: โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด สาเหตุสำคัญเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การได้รับโภชนศึกษาจะช่วยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมกับภาวะโภชนาการ ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาพฤติกรรมการรับประทานอาหารร่วมกับภาวะโภชนาการ


วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาภาวะโภชนาการและพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ก่อนและหลังการได้รับโภชนศึกษา


วิธีการศึกษา: การศึกษาแบบย้อนหลังโดยใช้ข้อมูลจากเวชระเบียนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก คลินิกโรคหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ในช่วงระหว่าง มกราคม-ธันวาคม พ.ศ.2564 ที่มีข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผิดปกติ และถูกส่งปรึกษานักโภชนาการ โดยสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงในการคัดเลือกข้อมูลผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1) แบบบันทึกข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียน ประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย และ 2) แบบสอบถามประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยมีค่าความเที่ยงของเครื่องมือค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.86 และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและใช้สถิติ paired t-test


ผลการศึกษา: ค่าภาวะโภชนาการ ได้แก่ total cholesterol ระดับ low density lipoprotein-cholesterol (LDL- cholesterol) และระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.004, p<0.001 และ p= 0.047 ตามลำดับ) รวมถึงมีระดับพฤติกรรมการบริโภคอาหารอยู่ในระดับสูงและมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการบริโภคอาหารดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนได้รับโภชนศึกษาและหลังได้รับโภชนศึกษา


สรุปผล: โปรแกรมการให้โภชนศึกษามีผลให้ภาวะโภชนาการ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ป่วยดีขึ้น สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคที่รุนแรง จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจได้

Article Details

บท
บทความวิจัย