ผลของโปรแกรมการเยี่ยมผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านต่อระยะเวลาการอยู่บ้านได้ของผู้ป่วยจิตเภทครั้งแรก

ผู้แต่ง

  • สาวิตรี แสงสว่าง สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
  • ประเทือง ละออสุวรรณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
  • อัญชลี ศรีสุพรรณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
  • กาญจนา สุดใจ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

คำสำคัญ:

โปรแกรมการเยี่ยมผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน, ผู้ป่วยจิตเภทครั้งแรก, ระยะเวลาการอยู่บ้าน

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของผลของโปรแกรมการเยี่ยมผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านต่อระยะเวลาการอยู่บ้านได้ของผู้ป่วยจิตเภทครั้งแรก

วัสดุและวิธีการ : เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดผลก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทเป็นครั้งแรก มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2556 – กันยายน พ.ศ.2557 จำนวน 50 คน คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง โดยกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลหลังจำหน่ายตามปกติ และกลุ่มทดลองได้รับการดูแลหลังจำหน่ายตามปกติร่วมกับการติดตามเยี่ยมบ้าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) โปรแกรมการเยี่ยมผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน ซึ่งพัฒนามาจากรูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านของภัทราภรณ์ ทุ่งปันคำ และคณะ 2) แบบประเมินอาการทางจิต Brief Psychotic Rating  Scale (BPRS) 3) แบบวัดคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเวช และ 4) แบบวัดภาระในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะเวลาการอยู่บ้านได้ของผู้ป่วยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมด้วยสถิติ Independent t-test 

ผล : กลุ่มตัวอย่างมีทั้งหมด 50 คน คัดเลือกเข้ากลุ่มทดลอง 28 คน และกลุ่มควบคุม 22 คน มีลักษณะประชากรคล้ายคลึงกันคือ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 30 - 39 ปี  สถานภาพโสด จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของระยะเวลาการอยู่บ้านเท่ากับ 367.43 วัน กลุ่มควบคุมเท่ากับ 339.59 วัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทางสถิติแล้วพบว่าไม่แตกต่างกัน และผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีอาการทางจิตสงบร้อยละ 90.90 และมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับสูง (เฉลี่ย = 3.09, SD = 0.18) ผู้ดูแลผู้ป่วยมีความรู้สึกเป็นภาระในการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับปานกลาง (เฉลี่ย = 40.18, SD = 11.34)

สรุป : การเยี่ยมบ้านในผู้ป่วยจิตเภทครั้งแรก เป็นการพัฒนาทักษะการดูแลให้กับผู้ป่วยและครอบครัว โดยให้ชุมชนและศูนย์บริการสาธารณสุขมีส่วนร่วม สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ดูแลสามารถดูแลผู้ป่วยจิตเภทได้โดยไม่รู้สึกเป็นภาระมากเกินไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-11

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ