ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจต่อพฤติกรรมสุขภาพและประสิทธิผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลป่าแดด

ผู้แต่ง

  • Areerat Chuankit, Registered Nurse, Professional Level รพ ป่าแดด จังหวัดเชียงใหม่

คำสำคัญ:

การเสริมสร้างพลังอำนาจ, พฤติกรรมสุขภาพ, ประสิทธิผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

บทคัดย่อ

ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองได้ตามปกติ เกิดภาวะไร้พลังอำนาจเนื่องจากการรับรู้คุณค่าในตนเองลดลง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยควรได้รับการเสริมสร้างพลังอำนาจ เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ลดผลกระทบ และเพิ่มระดับคุณภาพชีวิต

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดซ้ำเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจต่อพฤติกรรมสุขภาพและประสิทธิผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยใน โรงพยาบาลป่าแดด ได้รับการเลือกอย่างเจาะจง จำนวน 15ราย กลุ่มตัวอย่างได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจตามแนวคิดของ Gibson ผลของโปรแกรมประเมินจากพฤติกรรมสุขภาพ และประสิทธิผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดพฤติกรรมสุขภาพ และวัดประสิทธิผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดโดยใช้แบบวัดความรู้สึกเหนื่อยในการประกอบกิจกรรมประจำวัน และแบบวัดคุณภาพชีวิตวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบที (t-test statistic)

ผลการวิจัยพบว่าภายหลังได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจระดับคะแนนเฉลี่ยของพฤติกรรมสุขภาพผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิต และคะแนนเฉลี่ยความรู้สึกเหนื่อยในการประกอบกิจกรรมประจำวันลดลงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05)

ผลการวิจัยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด และเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วย ดังนั้นจึงควรใช้โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจในการให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพ และควรมีการประยุกต์ใช้โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-07-18