การรับรู้พฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยเรียนโดยใช้กระบวนการจัดทำสื่อหนังสั้น กรณีศึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) เพื่อศึกษาผลของการรับรู้พฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยเรียนโดยใช้กระบวนการจัดทำสื่อหนังสั้น กรณีศึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กิจกรรมในการวิจัยประกอบด้วย กิจกรรมการสร้างสัมพันธภาพ, กิจกรรมค้นหาสภาพปัญหาโดยการใช้กระบวนการสนทนากลุ่ม, กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสะท้อนปัญหาที่มีส่วนเกี่ยวข้อง, กิจกรรมบรรยายให้ความรู้เลือกแนวทาง วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสม, กิจกรรมเรียนรู้กระบวนการผลิตหนังสั้นผ่านการปฏิบัติจริง, กิจกรรมการประกวดหนังสั้น, กิจกรรมการนำเสนอชิ้นงานและเผยแพร่สู้ชุมชน, การสนทนากลุ่ม, การติดตาม และ กิจกรรมการประเมินผล รวมระยะเวลา 24 สัปดาห์ เลือกพื้นที่ดำเนินการโดยใช้วิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 40 คน เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปใช้สถิติเชิงพรรณนา และใช้สถิติ Independent t-test, Paired t-test และมีค่าความเชื่อมั่นที่ 95% รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาของข้อมูลที่ได้จากกระบวนสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์ครูผู้ดูแลกลุ่มทดลอง
ผลการศึกษา พบว่า ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยเรียน, ความคิดเห็นต่อการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำหนังสั้น, การรับรู้พฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยเรียน ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านครอบครัว ด้านเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าก่อนการทดลอง และมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (p-value < 0.05)
โดยสรุป ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการทดลองครั้งนี้ คือ กระบวนการผลิตหนังสั้นโดยถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยเรียน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการรับรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ อย่างเข้าใจง่ายและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และสามารถประยุกต์ใช้กับกลุ่มบุคคลอื่นได้
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความนี้ลงตีพิมพ์ในวารสารศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือวิจัย ผลการวิเคราะห์ตลอดจนข้อเสนอแนะเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของวารสารศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น หรือกองบรรณาธิการแต่อย่างใด ผู้เขียนต้องรับผิดชอบต่อบทความของตนเอง