ประสบการณ์การมีอาการ กลวิธีการจัดการ และผลลัพธ์การจัดการอาการ ของระบบประสาทส่วนปลายส่วนล่างเสื่อมในผู้เป็นเบาหวานSymptom Experiences, Symptom Management, and Outcomes of Person with Diabetes with Lower Extremity Neuropathy

ผู้แต่ง

  • ธีราภรณ์ บุญล้อม
  • อภิญญา ศิริพิทยาคุณกิจ
  • นิโรบล กนกสุนทรรัตน์

คำสำคัญ:

ประสบการณ์การมีอาการ กลวิธีการจัดการ ผลลัพธ์การจัดการอาการ ระบบประสาทส่วนปลายส่วนล่าง เสื่อม ผู้เป็นเบาหวาน

บทคัดย่อ

การวิจัยแบบบรรยายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การมีอาการ กลวิธีการจัดการ และผลลัพธ์การจัดการกับอาการของระบบประสาทส่วนปลายส่วนล่างเสื่อมในผู้เป็นเบาหวาน โดยใช้รูปแบบการจัดการอาการของดอดด์และคณะ กลุ่มตัวอย่างคือผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีอาการของระบบประสาทส่วนปลายส่วนล่างเสื่อมมีคุณสมบัติตามเกณฑ์จำนวน 85 ราย เก็บรวบรวบข้อมูลโดยใช้เครื่องมือทั้งหมด 3 ชุด ได้แก่ 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสัมภาษณ์ประสบการณ์การมีอาการของระบบประสาทส่วนปลายส่วนล่างเสื่อม และ 3) แบบสัมภาษณ์กลวิธีการจัดการและผลลัพธ์ของการใช้กลวิธีการจัดการอาการของระบบประสาทส่วนปลายส่วนล่างเสื่อมวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย
ผลการวิจัย พบว่า อาการตะคริวที่เท้า หรือขาเป็นอาการที่มีการรับรู้ มีความรุนแรง และทำให้ทุกข์ทรมาน
หรือรบกวนความสามารถการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากที่สุด (ร้อยละ 82.4, 42.5 และ 64.3) ในด้านความถี่พบว่า อาการชา แต่รู้สึกเมื่อสัมผัสเป็นอาการที่มีความถี่เกิดขึ้นตลอดเวลามากที่สุด (ร้อยละ 44.7) ผู้เป็นเบาหวานใช้กลวิธีการจัดการกับอาการหลายวิธีร่วมกัน โดยการบีบนวดเป็นกลวิธีที่มีการใช้มากที่สุด และให้ผลลัพธ์ทำให้อาการลดลง แต่พบว่า การควบคุมนํ้าตาลในเลือด การตรวจเท้า ซึ่งเป็นวิธีการจัดการที่มีความเฉพาะกับภาวะระบบประสาทส่วนปลายส่วนล่างเสื่อมยังมีการนำมาใช้ไม่มากนัก
ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า อาการของระบบประสาทส่วนล่างส่วนปลายเสื่อมทำให้เกิดความทุกข์ทรมานมีผลต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้นพยาบาลควรตระหนัก และประเมินอาการที่เกิดขึ้น วางแผนการพยาบาลให้ผู้เป็นเบาหวานได้รับการดูแล และสามารถจัดการอาการด้วยตนเองได้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

Downloads