การพัฒนาแนวทางการพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ห้องผ่าตัด โรงพยาบาลเลย

ผู้แต่ง

  • รัตน์ติยา สันติสถาพร
  • วาสนา ธรรมธีระศิษฏ์
  • ปรางฉาย พากระจ่าง
  • อภิชาติ สุนทร

คำสำคัญ:

แนวทางการพยาบาล การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม การพยาบาลห้องผ่าตัด

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการรักษาเพื่อแก้ไขความพิการและลดความปวดเมื่อรักษาด้วยยาไม่ได้ผล หลังการผ่าตัดอาจเกิดความเสี่ยง ได้แก่ อาการปวด และภาวะติดเชื้อ ในหน่วยงานพบอุบัติการณ์เลื่อนผ่าตัดจากเครื่องมือไม่พร้อมใช้ร้อยละ 16.9 และแผลบวมแดงหลังผ่าตัดร้อยละ 2.8 สาเหตุจากข้อจำกัดของลักษณะงาน เพราะการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีความซับซ้อนยุ่งยาก ใช้เวลานาน และเสี่ยงต่อการปนเปื้อน ระบบการหมุนเวียนพยาบาล การจัดการความรู้ไม่ชัดเจน และปัจจัยส่วนบุคคลของพยาบาล เช่น ความรู้และประสบการณ์ ดังนั้นการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแนวทางการพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมสำหรับพยาบาลห้องผ่าตัด โรงพยาบาลเลย

วิธีดำเนินการศึกษา ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการตามแนวคิดของ Kemmis และ McTaggart เป็นกรอบคิดในการพัฒนา ช่วงเวลา เมษายน ถึง กรกฎาคม 2563 ประชากรเป็นพยาบาลในหน่วยงานและผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในช่วงเวลาดังกล่าว โดยผู้ร่วมวิจัยเป็นพยาบาลทั้งหมด 50 คน และกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย 36 คน เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบประเมินการใช้แนวทางการพยาบาล ฯ แบบประเมินความพึงพอใจ แนวทางการประชุมระดมสมองและสะท้อนคิด การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลเชิงกลุ่มนำเสนอด้วยความถี่และร้อยละ เปรียบเทียบคะแนนการใช้แนวทางการพยาบาลฯ 3 ช่วงเวลาด้วย Friedman test ข้อมูลต่อเนื่อง นำเสนอด้วยค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบข้อมูลด้วย Mann-Whitney U test ดำเนินงาน 2 วงรอบ คือ วงรอบที่ 1 การพัฒนาแนวทางการพยาบาลฯ และ วงรอบที่ 2 การใช้แนวทางการพยาบาล ฯ ในงานประจำ แต่ละวงรอบมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ วางแผน ปฏิบัติการ สังเกตการณ์ และสะท้อนคิด

ผลการพัฒนาทำให้เกิดเปลี่ยนแปลง คือ หน่วยงานมีแนวทางการพยาบาล ฯ ใช้ในการดูแลผู้ป่วย เกิดระบบการมอบหมายงานและการนิเทศติดตาม ร่วมแรงร่วมใจสร้างองค์ความรู้เพื่อใช้ในหน่วยงาน เช่น คู่มือสำหรับพยาบาลห้องผ่าตัดในการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผลลัพธ์แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) การบรรลุเป้าหมายทางการพยาบาล ได้แก่ พยาบาลตัดสินใจและให้การพยาบาลภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ให้การพยาบาลถูกต้องและครอบคลุมตามมาตรฐาน  คะแนนพฤติกรรมการใช้แนวทางการพยาบาลฯ เพิ่มจาก 5.6 เป็น 8.9 (p< 0.001) และอุบัติการณ์เลื่อนผ่าตัดจากเครื่องมือไม่พร้อมใช้ลดลงจาก 12 ครั้ง (ร้อยละ 17) เหลือ 0 ครั้ง (0%) 2) พยาบาลพึงพอใจต่อการแนวทางการพยาบาล ฯ มากขึ้น จาก 2.91 (ระดับมาก) เพิ่มเป็น 4.22 (ระดับมาก) 3) ผู้ป่วยเกิดเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ระดับความปวดลดลงจาก 2.3 คะแนน เป็น 2.2 คะแนน อุบัติการณ์แผลบวมแดงหลังผ่าตัดลดลงจาก 2 คน (ร้อยละ 3) เหลือ 0 คน (0%) และระดับการทำกิจวัตรประจำวันเพิ่มขึ้นจาก 15.95  คะแนน เป็น 16.47 คะแนน

สรุปผลการวิจัยและการนำไปใช้ การพัฒนาแนวทางการพยาบาล ฯ ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ รวมทั้งเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อการปฏิบัติการพยาบาลและผู้ป่วยเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ควรนำแนวทางการพยาบาลดังกล่าวไปใช้อย่างต่อเนื่องในงานประจำ และควรวิจัยเชิงพัฒนาทั้งระบบบริการตั้งแต่แผนกผู้ป่วยนอกจนถึงชุมชน

References

1. Ugalmugle S, Swian R. Total Knee Replacement Market Size. Global market insights; 2020(1): 850-854.
2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. บอร์ด สปสช.ออกแนวปฏิบัติผ่าข้อเข่าเสื่อม กระจาย.ให้เขตพิจารณาข่วยผู้ป่วยได้รักษา [ออนไลน์] 2559 [อ้างเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563]. จาก https://www.hfocus.org/content/2016/12/13154
3. Kemmis S, McTaggart R. The Action Research Planer (3rd ed.). Victoria : Deakin University; 1988.
4. Thomas LH, McColl E, Cullum N, Rousseau N, Soutter J, Steen N. Effect of clinical guidelines in nursing, midwifery, and the therapies: a systematic review of evaluations. Qual Health Care 1998; 7(4): 183-191.
5. วิลาวัณย์ นาคปลัด, เนตรนภา คู่พันธวี และ หทัยรัตน์ แสงจันทร์. การพัฒนาและประเมินผลแนวปฏิบัติทางการพยาบาลสำหรับการส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยสูงอายุที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม. วารสารพยาบาลตำรวจ 2562; 11(1): 73-86.
6. เพ็ญศรี เลาสวัสดิ์ชัยกุล, บังอร ชาตริยานุโยค และ อรวรรณ วราภาพงษ์. ความสำเร็จในการนำแผนการจัดการดูแลทางคลินิกผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสู่การปฏิบัติ. รามาธิบดีพยาบาลสาร 2555; 18(2): 153-166.
7. Blom AW, Brow J, Taylor H, Pattison G, Whiehouse S, Bannister GC. Infection after total knee arthroplasty. J Bone Joint Surg Br 2004; 86(5): 688-691.
8. วงเดือน สุวรรณคีรี และ ยุพเรศ พญาพรหม. การป้องกันการติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัด. วารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 29(2): 15-28
9. World Health Organization. WHO guidelines for safe surgery 2009: safe surgery saves lives. Geneva: World Health Organization; 2009.
10. Weingarten SR, Conner L, Riedinger M, Alter A, Brien W, Ellrodt AG. Total knee replacement. A guideline to reduce postoperative length of stay. West J Med 1995; 163(1): 26-30.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-09-28