การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเสริมผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กกรุ๊ปวิชาการพยาบาลผดุงครรภ์ 2

ผู้แต่ง

  • พีรนันท์ พวิศาลสกุลวงษ์
  • สุมิตตา สว่างทุกข์
  • มณีรัตน์ พราหมณี

คำสำคัญ:

การสอนเสริม, ผดุงครรภ์, เฟซบุ๊ก, วิจัยเชิงปฏิบัติการ, การสอนออนไลน์

บทคัดย่อ

การสอนวิชาการผดุงครรภ์โดยการบรรยายไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลาที่ไม่พอเพียงที่จะตอบสนองความต้องการของผู้เรียนจึงส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และการสื่อสารที่ไม่ต่อเนื่อง การวิจัยปฏิบัติการแบบเน้นวิธีการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเสริมผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กกรุ๊ปในวิชาการพยาบาลผดุงครรภ์ 2 ทำการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพผู้ให้ข้อมูลเป็นอาจารย์ที่ร่วมสอนจำนวน 6 คนและผู้เรียนพยาบาลชั้นปีที่ 4 ซึ่งคัดเลือกแบบเจาะจงจำนวน 20 คน  เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านการตรวจสอบคุณภาพทั้งความเที่ยงตรงตามเนื้อหา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต สัมภาษณ์ สนทนากลุ่มและใช้แบบสอบถามระหว่างเดือนกันยายน 2559 ถึง มกราคม 2560 การดำเนินการวิจัยมีขั้นตอน ได้แก่ 1) การวางแผน  2) การปฏิบัติ  3) การสังเกตติดตามผลการปฏิบัติ  4) การสะท้อนผลของการปฏิบัติ ติดตามประเมินผล  นำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้เทคนิคการวิเคราะห์แก่นสาระ (Thematic analysis) ตรวจสอบความถูกต้องและความเชื่อถือของข้อมูลโดยใช้หลักสามเส้าของข้อมูล

ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการเรียนการสอนเสริมผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กกรุ๊ปในวิชานี้ประกอบด้วย (1) กระบวนการของรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับ 1) การวางแผน 2) การปฏิบัติ  3) การสังเกตติดตามผลการปฏิบัติ  4) การสะท้อนผลของการปฏิบัติ 5) การติดตามประเมินผล  (2) ปัจจัย 4 ประการของการสอนผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กกรุ๊ปประกอบด้วย 1) ทีมจัดการเรียนการสอน 2)เครื่องมือในการสอน 3) ช่วงเวลาของการเรียนเฟซบุ๊กกรุ๊ปและ 4) ความเชื่อของผู้เรียน เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ วิดิโอคลิป เอกสารประกอบการสอน ไฟล์ต่างๆ แบบฝึกหัดข้อสอบ ประเด็นคำถามปลายเปิด การอภิปราย การสนทนาออนไลน์ การติดตามการสนทนาออนไลน์ และการกระตุ้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ดังนั้น รูปแบบการเรียนการสอนเสริมผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กกรุ๊ปในวิชาผดุงครรภ์นี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและไร้พรมแดนโดยเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองส่งผลให้เกิดการสะสมความรู้เพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีโอกาสลงมือกระทำ  สามารถประยุกต์ใช้ทักษะและเชื่อมโยงองค์ความรู้นำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-03-26