การพัฒนาบริการสุขภาพที่เป็นมิตรเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่น Improving Adolescent Friendly Health Service for Prevent Unwanted Teenage Pregnancy

ผู้แต่ง

  • ภาณุพงษ์ พังตุ้ย
  • วิลาวัณย์ ชมนิรัตน์

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น และพัฒนาบริการเข้าถึงสุขภาพที่เป็นมิตรเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่น มีผู้ร่วมดำเนินการวิจัยระยะดำเนินการ 42 คน ประกอบด้วย วัยรุ่น 10 คน ผู้ปกครองวัยรุ่น 10 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 10 คน ผู้นำชุมชน 2 คน ครูจากโรงเรียน 4 คน เจ้าหน้าที่เทศบาล 1 คน พยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลชุมชน 1 คน และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แนวทางการสนทนากลุ่ม  แนวทางการสัมภาษณ์เชิงลึก และแนวทางการสังเกต ระยะเวลาดำเนินงานระหว่าง มิถุนายน 2561 – มีนาคม 2562 ดำเนินการ 2 วงรอบ ขั้นดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย 4 ระยะ คือ 1) ระยะวางแผน ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพ และวางแผนดำเนินงาน 2) ระยะปฏิบัติตามแผนและการสังเกต 3) ระยะสะท้อนผลการปฏิบัติ และ 4) ระยะปรับปรุงการปฏิบัติ เพื่อเข้าสู่วงรอบที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

                ผลการวิจัย พบว่า สถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพ วัยรุ่นในพื้นที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งจากตัววัยรุ่น หน่วยบริการด้านสุขภาพ และมุมมองของชุมชน การจัดบริการด้านสุขภาพที่ยังไม่ครอบคลุมความต้องการกลุ่มเป้าหมาย เครือข่ายในพื้นที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น ทั้งยังเป็นการทำงานแบบแยกส่วน รวมทั้งหน่วยบริการสุขภาพยังขาดเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานที่ชัดเจน จึงนำไปสู่การพัฒนาบริการด้านสุขภาพเพื่อให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลเพศศึกษารอบด้าน ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ  1) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรผู้ใหญ่ใจดีในการดูแลบุตรหลานวัยรุ่น 2) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรวัยรุ่นยุคใหม่ใส่ใจสุขภาพทางเพศ เนื้อหาทั้งสองโครงการออกแบบตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย 3) กิจกรรมสร้างช่องทางการเข้าถึงความรู้ ที่สอดคล้องกับยุคสมัย และ 4) กิจกรรมเปิดสอนเพศศึกษารอบด้านรายวิชาสุขศึกษาในโรงเรียนแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างโรงเรียน กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  ทุกกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ส่งผลให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดการเห็นปัญหาร่วมกัน ได้ร่วมคิดและตัดสินใจ โดยคำนึงถึงทุนในชุมชน ศักยภาพ และบริบทของชุมชนเป็นสำคัญ และการที่วัยรุ่นได้มีส่วนร่วมในการออกแบบทำให้การบริการที่ออกแบบสอดคล้องกับความต้องการของวัยรุ่น

                ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยในครั้งนี้ ควรส่งเสริมการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ปกครองวัยรุ่น และมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้วัยรุ่นได้มีบทบาทหลักในการดำเนินงานแต่ละกิจกรรม เพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27