ผลของโปรแกรมการสอนงานพยาบาลวิชาชีพ ต่อการใช้แนวปฏิบัติและลดอัตรา การเกิดความคลาดเคลื่อนในการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง
คำสำคัญ:
โปรแกรมการสอนงาน, ยาที่มีความเสี่ยงสูง, การบริหารยา ความคลาดเคลื่อนทางยาบทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดซ้ำนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสอนงานต่อการใช้แนวปฏิบัติและลดอัตราการเกิดความคลาดเคลื่อนในการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จำนวน34 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยกำหนดเกณฑ์เป็นผู้สอนงาน 16 คน และผู้รับการสอนงาน 16 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ โปรแกรมการสอนงาน แผนการอบรมผู้สอนงาน แบบทดสอบความรู้ผู้สอนงาน แนวปฏิบัติการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง และแบบสังเกตการปฏิบัติ โดยเครื่องมือได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา จากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน มีค่าความตรงตามเนื้อหา (CVI) เท่ากับ 0.81, 1, 1, 0.96, และ 0.81 ตามลำดับ ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบความรู้ผู้สอนงาน แนวปฏิบัติการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง แบบสังเกตการปฏิบัติได้เท่ากับ = 0.76, 0.81, และ 1 ตามลำดับ ทั้งนี้กลุ่มผู้สอนงานได้รับการอบรม และวัดความรู้ก่อนหลังการอบรม ภายหลังอบรมทำหน้าที่สอนงานและสังเกตการปฏิบัติการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงติดตามความคลาดเคลื่อนในการบริหารยาของกลุ่มผู้รับการสอนงาน ขณะที่กลุ่มผู้รับการสอนงาน ได้รับการสอนงานตามโปรแกรม และได้รับการสังเกตการปฏิบัติในการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง ก่อนได้รับโปรแกรมการสอนงาน 1 ครั้ง และวัดซ้ำ 2 ครั้งคือ ใน 1 เดือนและ 3 เดือนหลังได้รับโปรแกรมการสอนงาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย สถิติ paired t-test และสถิติ One Way Repeated measure ANOVA และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธี Bonferoni
ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง หลังได้รับโปรแกรมการสอนงาน 1 เดือน (Mean = 16.06, SD= 1.57) และหลังได้รับโปรแกรมการสอนงาน 3 เดือน (Mean = 17.25, SD = 0.68) มากกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการสอนงาน (Mean = 12.13, SD= 2.33) วิเคราะห์ความแปรปรวนค่าเฉลี่ยคะแนนการปฏิบัติพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F2,30 = 67.67; p < .001) ทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยรายคู่ พบว่ามีความแตกต่างกันทุกคู่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 (p < .001) ส่วนอัตราความคลาดเคลื่อนในการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง หลังได้รับโปรแกรมการสอนงาน 3 เดือน และหลังได้รับโปรแกรมการสอนงาน 1 เดือน น้อยกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการสอนงาน มีค่าเท่ากับ 1.02, 2.1 และ 4.5 ครั้ง ต่อ1000 วันนอน ตามลำดับ จากผลการวิจัยสามารถสรุปได้ว่า โปรแกรมการสอนงาน ส่งผลให้ พยาบาลวิชาชีพ มีการใช้แนวปฏิบัติในการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มมากขึ้น และส่งผลในการลดความคลาดเคลื่อนในการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูงได้