สัมพันธภาพระหว่างคู่สมรส ความเหนื่อยล้าและความเครียดในการเลี้ยงดูบุตรในผู้เป็นบิดาครั้งแรก Marital Relationship, Fatigue, and Parenting Stress Among First-time Fathers
คำสำคัญ:
สัมพันธภาพระหว่างคู่สมรส ความเหนื่อยล้า, ความเหนื่อยล้า ความเครียดในการเลี้ยงดูบุตร, ผู้เป็นบิดาครั้งแรกบทคัดย่อ
ความเครียดในการเลี้ยงดูบุตรมีความสำคัญต่อบิดาโดยเฉพาะผู้เป็นบิดาครั้งแรก ความเครียด ในการเลี้ยงดูบุตรระดับสูงส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านร่างกายและจิตใจของทั้งผู้เป็นบิดาครั้งแรกและบุตร การวิจัยเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรส ความเหนื่อยล้า และความเครียดในการเลี้ยงดูบุตรในผู้เป็นบิดาครั้งแรก กลุ่มตัวอย่าง คือผู้เป็นบิดาครั้งแรกที่บุตรมีอายุ 4 ถึง 6 สัปดาห์ จำนวน 85 ราย ที่พาภรรยามารับบริการตรวจสุขภาพที่แผนกตรวจหลังคลอดและวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และแผนกวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึงเดือน สิงหาคม พ.ศ.2561 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เป็นบิดาครั้งแรกและมารดา 2) แบบวัดสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรสของ สปาเนียร์ (Spanier) ฉบับภาษาไทยโดย จารุวรรณ ชุปวา 3) แบบวัดอาการเหนื่อยล้าของ พิวจ์ และคณะ (Pugh et al.) ฉบับภาษาไทยโดย จรัสศรี ธีระกุลชัย และ 4) แบบวัดความเครียดในการเลี้ยงดูบุตรของ เบอร์รี่ และโจนส์ (Berry & Jones) ฉบับภาษาไทยโดย วรรณพร คำพิลา บังอร ศุภวิทิตพัฒนา และ นงลักษณ์ เฉลิมสุข วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยใช้สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการวิจัย พบว่า 1) ร้อยละ 50.59 ของผู้เป็นบิดาครั้งแรกมีสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรสอยู่ในระดับดี โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนเท่ากับ 3.84 (S.D. = .51) 2) ร้อยละ 77.65 ของผู้เป็นบิดาครั้งแรกมีคะแนนความเหนื่อยล้าอยู่ในระดับต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนเท่ากับ 51.06 (S.D. = 13.86) 3) ร้อยละ 82.35 ของผู้เป็นบิดาครั้งแรกมีคะแนนความเครียดในการเลี้ยงดูบุตรอยู่ในระดับต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนเท่ากับ 35.88 (S.D. = 9.75) 4) สัมพันธภาพระหว่างคู่สมรสมีความสัมพันธ์ทางลบระดับปานกลางกับความเครียดในการเลี้ยงดูบุตรในผู้เป็นบิดาครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.42, p < .01) และ 5) ความเหนื่อยล้ามีความสัมพันธ์ทางบวกระดับปานกลางกับความเครียดในการเลี้ยงดูบุตรในผู้เป็นบิดาครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .33, p < .01)
ผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อลดความเครียดในการเลี้ยงดูบุตร
โดยส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรส และลดความเหนื่อยล้าในผู้เป็นบิดาครั้งแรก