ผลของแนวปฏิบัติการพยาบาลในการป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน ต่อผลลัพธ์ทางคลินิก ในผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม Effect of Acute Kidney Injury Prevention Clinical Nursing Practice Guideline on Clinical Outcomes in Surgical Patients with Critical Illness
คำสำคัญ:
แนวปฏิบัติการพยาบาล, ภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน, ผลลัพธ์ทางคลินิก, ผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของแนวปฏิบัติการพยาบาลในการป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันต่อผลลัพธ์ทางคลินิก ในผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยพยาบาลวิชาชีพ 20 คน และผู้ป่วยระยะวิกฤต 56 คน ศึกษาในหอภิบาลผู้ป่วยศัลยกรรมและฉุกเฉิน แผนกระยะวิกฤต โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ จำนวน 28 คน และกลุ่มที่ใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลในการป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน จำนวน 28 คน และพยาบาลที่ใช้แนวปฏิบัติมี 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) ชุดประเมินปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน 2) ชุดการเฝ้าระวังการดำเนินภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน ในผู้ป่วยระยะวิกฤต 3) ชุดประเมินความพอเพียงของการได้รับสารน้ำในร่างกาย ในผู้ป่วยระยะวิกฤต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Relative risk, t-test
ผลการศึกษาพบว่า
- อุบัติการณ์เกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันในกลุ่มทดลองเป็น 0.46 เท่าในกลุ่มควบคุม (RR= 0.46, 95% Cl= 0.23- 0.97, p= 0.02)
- พยาบาลมีความพึงพอใจในการใช้แนวปฏิบัติระดับมาก (= 28.35, SD = 1.87) และความมีวินัยในการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการพยาบาลมากกว่า ร้อยละ 75
การศึกษาครั้งนี้ยืนยันว่าแนวปฏิบัติการพยาบาลในการป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วย แนวปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นช่วยให้มีการประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันมากขึ้น ช่วยให้มีการได้รับการเฝ้าระวังการดำเนินภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันมากขึ้น ช่วยในการประเมินสารน้ำในร่างกายของผู้ป่วยวิกฤต และยังพบว่าพยาบาลมีความพึงพอใจต่อการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลในระดับมาก อย่างไรก็ตาม การนำแนวปฏิบัติไปใช้ในหน่วยงานอื่น ควรมีการพิจารณารายละเอียดของแนวปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อปรับให้เหมาะสมกับบริบทก่อนนำไปใช้