ความชุกของกลุ่มอาการสูงอายุและลักษณะของผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษา ในคลินิกผู้สูงอายุ โรงพยาบาลศิริราช Prevalence of geriatric syndromes and characteristics of elderly patients in geriatric clinic, Siriraj hospital

ผู้แต่ง

  • ปิติพร สิริทิพากร
  • วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
  • ดุจปรารถนา พิศาลสารกิจ
  • เพ็ญศรี เชาว์พานิชย์เวช
  • ไพฑูรย์ เหล่าจันทร์
  • สุทิศา ปิติญาณ
  • นภาพร เพ็งสอน

คำสำคัญ:

ความชุก, กลุ่มอาการสูงอายุ, อาการหลงลืม, คลินิกผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย จำนวน 1,171 ราย คิดเป็น ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาในคลินิกสูงอายุ รพ.ศิริราชในช่วงเดือนมกราคม ถึง กรกฎาคม พ.ศ.2560 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย และแบบประเมินภาวะสุขภาพ/กลุ่มอาการสูงอายุ เพื่อประเมินอาการในช่วงเวลา 3 เดือนก่อนพบแพทย์  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการทดสอบไค-สแควร์  

                ผลการวิจัย ผู้ป่วยเป็นเพศหญิง ร้อยละ 67.5 อายุเฉลี่ย 79.3 ปี (SD=7.8) กลุ่มอาการสูงอายุที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อาการหลงลืม ร้อยละ 40.6 ภาวะกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ร้อยละ 38.0 ปัญหาเรื่องการนอน ร้อยละ 26.4 ภาวะหกล้ม(fall) ภายในระยะ 3 เดือน ร้อยละ 12.0 ภาวะเบื่ออาหาร ร้อยละ 11.6 กลุ่มตัวอย่างที่มีอาการหลงลืมจะมีกลุ่มอาการสูงอายุอื่น ๆ ร่วมด้วยตั้งแต่ 2 อาการ และมากกว่าขึ้นไป จากการหาความสัมพันธ์ด้วยสถิตการทดสอบไค-สแควร์ พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ (p < .05) เพศ (p < .05) และความสามารถในการช่วยเหลือตนเองลดลง (p < .001) มีความสัมพันธ์กับอาการหลงลืมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มอาการสูงอายุที่มีความสัมพันธ์กับอาการหลงลืมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ภาวะหกล้ม (p < .05) ภาวะกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ (p < .001) และภาวะซึม สับสนเฉียบพลัน (p < .001)

กลุ่มอาการผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มอาการที่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบในการประเมินผู้ป่วย ถึงแม้ว่ากลุ่มอาการสูงอายุเหล่านี้บางอาการไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมีวางแผนในการดูแลและการเฝ้าระวังแล้ว จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากกลุ่มอาการดังกล่าวได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมมักจะมีกลุ่มอาการสูงอายุอื่นร่วมด้วย จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหรือปัญหาแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีอาการหลงลืม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-09-29