ผลของโปรแกรมการดูแลต่อเนื่องที่บ้านต่อความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับบริการที่กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ

ผู้แต่ง

  • ชฎาภรณ์ ศรบุญทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ

คำสำคัญ:

โปรแกรมการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน, ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ  คะแนนเฉลี่ยความรู้และความพึงพอใจของญาติผู้ป่วยก่อน และหลังการใช้โปรแกรมการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอาศัยในเขตอำเภอยางชุมน้อยและติดเตียงมาแล้วไม่เกิน 6 เดือนจนถึงวันที่ศึกษา คัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์การคัดเข้าศึกษาจำนวน 22 คนแบ่งตามพื้นที่โซนเป็น 2 กลุ่มโดยโซน 1 (ตำบลยางชุมน้อย ตำบลคอนกาม ตำบลกุดเมืองฮาม ตำบลโนนคูณ) จำนวน 11 คนโซน 2 (ตำบลลิ้นฟ้า ตำบลยางชุมใหญ่ ตำบลบึงบอน) จำนวน 11คน ใช้เวลาศึกษา 8 สัปดาห์ เครื่องมือทดลองเป็นโปรแกรมดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ประกอบด้วย ตารางฟื้นฟูประจำวัน นาฬิกาปลุกชีพสำหรับญาติผู้ดูแลผู้ป่วย คู่มือการใช้โปรแกรมการดูแลผู้ป่วย สร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นในการฟื้นฟูสมองสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน การควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถาม 3 ส่วนได้แก่ ข้อมูลทั่วไป แบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย (Barthel Index of Activities of Daily Living) แบบประเมินการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย  แบบประเมินความรู้ของญาติในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และแบบประเมินความพึงพอใจของญาติต่อการพยาบาลที่ได้รับ แบบสอบถามทั้งหมดมีค่า IOC เฉลี่ยเท่ากับ 0.91 ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.826 (KR20) และ 0.815 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบที                                                                

         ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มทดลองมีผลต่างคะแนนความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน คะแนนเฉลี่ยความรู้และความพึงพอใจหลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลอง (M=-40.90,S.D.=22.45), (M=-3.36,S.D.=2.69) และ (M=-.71, S.D.=.24)  กลุ่มทดลองมีผลต่างคะแนนความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันคะแนนเฉลี่ยความรู้และความพึงพอใจหลังทดลองสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (t=4.066, p<.001),(t=9.462, p<.001)และ(t=3.253, p<.001)อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05  หลังทดลองกลุ่มทดลองมีภาวะแทรกซ้อนลดลงกว่าก่อนทดลองและลดลงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ จากการวิจัยแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของโปรแกรมการดูแลต่อเนื่องที่บ้านที่มีต่อระดับความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถฟื้นฟูได้เร็ว ลดภาวะแทรกซ้อน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นอีกทางเลือกในการประยุกต์ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ต่อไป     

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-03-26