ผลของโปรแกรมการป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดาวัยรุ่น

ผู้แต่ง

  • มุฑิตา คำบ่อ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • พรรณพิไล ศรีอาภรณ์
  • จิราวรรณ ดีเหลือ

คำสำคัญ:

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด, มารดาวัยรุ่น, โปรแกรมการป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

บทคัดย่อ

ผลของโปรแกรมการป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดาวัยรุ่น

บทคัดย่อ

มารดาวัยรุ่นต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์จากวุฒิภาวะที่ยังไม่สมบูรณ์ ขาดความมั่นใจในการดูแลทารก ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลและอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ การวิจัยแบบกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าระยะ 6 สัปดาห์หลังคลอดระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี จำนวน 46 ราย ที่เข้ารับบริการในแผนกหลังคลอด โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 เลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 23 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดาวัยรุ่นร่วมกับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ โปรแกรมการป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดาวัยรุ่น คู่มือการป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดาวัยรุ่น และแบบประเมินภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (the Edinburgh Postnatal Depression Scale [EPDS]) ฉบับภาษาไทยโดย จารุรินทร์ ปิตานุพงศ์ ทิพวรรณ เลียบสื่อตระกูล และอานนท์ วิทยานนท์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากรสองกลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน (independent t-test)

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าระยะ 6 สัปดาห์หลังคลอดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)

ผลการวิจัยครั้งนี้เสนอแนะว่าพยาบาลผดุงครรภ์สามารถนำโปรแกรมการป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดาวัยรุ่นไปประยุกต์ใช้ในการให้การพยาบาลมารดาวัยรุ่นหลังคลอดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด 

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-03-26