ปัจจัยทำนายพฤติกรรมป้องกันโรคเบาหวานในวัยรุ่นที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ในจังหวัดสมุทรปราการ Factors Predicting Diabetes Prevention Behaviors among Adolescents at Risk For Type II Diabetes in Samutprakan
คำสำคัญ:
วัยรุ่นที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน พฤติกรรมการป้องกันโรคเบาหวาน การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อโรคเบาหวานบทคัดย่อ
วัยรุ่นที่มีภาวะอ้วน นับเป็นวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หากมีพฤติกรรมป้องกันโรคเบาหวานที่ไม่เหมาะสม การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายพฤติกรรมป้องกันโรคเบาหวานในวัยรุ่นที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โดยใช้ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพและการทบทวนวรรณกรรมเป็นกรอบในการศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานที่มีภาวะอ้วนในเขตจังหวัดสมุทรปราการ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 85 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามพฤติกรรมป้องกันโรคเบาหวาน 2) แบบสอบถามการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน 3) แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ .77, .80 และ .85 ตามลำดับ และ 4) แบบสอบถามความรู้เรื่องโรคเบาหวาน มีค่า KR-20 เท่ากับ .77 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณ
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานอยู่ในระดับปานกลาง มีความรู้เรื่องโรคเบาหวานและการสนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับดี และมีพฤติกรรมการป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อยู่ในระดับดี (M = 101.40, SD = 7.37) การรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และเพศหญิง สามารถร่วมทำนายพฤติกรรมป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ของวัยรุ่นที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ ร้อยละ 24.8 (R2 = .248, F = 6.582, p < .001) โดยการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานเป็นปัจจัยที่สามารถทำนายได้สูงสุด (β = .36, p < .001) และเพศหญิง เป็นปัจจัยรองลงมาที่สามารถร่วมทำนายพฤติกรรมป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ (β = -.22, p < .05)
จากผลการศึกษาครั้งนี้ ควรนำไปส่งเสริมกลุ่มวัยรุ่นที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันโรค โดยเฉพาะเพศหญิง โดยเน้นเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคเบาหวาน และการปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2