ผลของแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน ในผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น Effects of Clinical Nursing Practice Guideline to Prevent Acute Kidney Injury among Critically Ill Trauma Patients in Khon Kaen Hospital
คำสำคัญ:
ภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน แนวปฏิบัติการพยาบาล การป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน ผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุบทคัดย่อ
ภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุ และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงและคุกคามต่อชีวิตได้ การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุ จำนวน 80 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 40 ราย กลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลตามแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุ เป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง และกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือวิจัย ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุ ผ่านการตรวจสอบคุณภาพด้วย AGREE II โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ได้คะแนนภาพรวม 91.67 และ 2) เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุ ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ดัชนีความตรงเชิงเนื้อหา 0.88 และตรวจสอบความเที่ยงระหว่างผู้ประเมิน ได้ค่าแคปป้า 1.0 และแบบเฝ้าระวังและติดตามการเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุตามเกณฑ์ KDIGO วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลใช้สถิติเชิงพรรณนาด้วยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน มัธยฐาน ค่าต่ำสุด-สูงสุด ส่วนการเปรียบเทียบสัดส่วนการเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ใช้สถิติทดสอบ Z-test แบบสองกลุ่มอิสระต่อกัน และนำเสนอขนาดความแตกต่างของสัดส่วนการเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมด้วยค่า Relative risk (RR) และ 95% Confidence Interval ของ RR
ผลการศึกษา พบว่า สัดส่วนการเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มทดลองมีโอกาสเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันเป็น 0.39 เท่าของกลุ่มควบคุม (RR 0.39, 95% Confidence Interval 0.18 - 0.83) คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจโดยรวมของพยาบาลอาสาสมัครต่อแนวปฏิบัติการพยาบาลฯ เท่ากับ 4.00 ซึ่งอยู่ในระดับมาก กล่าวโดยสรุปคือการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันสามารถป้องกันการเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤตอุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่นได้