ปัจจัยทำนายการเพิ่มน้ำหนักตัวในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนFactors Predicting Second Trimester Weight Gain In Overweight and Obese Pregnant Women
คำสำคัญ:
ปัจจัยทำนาย การเพิ่มน้ำหนักตัว สตรีตั้งครรภ์ ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ไตรมาสที่สองของการบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทำนาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการทำนายของจำนวนครั้งของการคลอด ภาพลักษณ์เกี่ยวกับรูปร่างก่อนตั้งครรภ์ การสนับสนุนทางสังคม พลังงานที่ร่างกายได้รับ และการมีกิจกรรมทางกาย ต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 130 คน ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2561 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามวัดภาพลักษณ์เกี่ยวกับรูปร่าง แบบสอบถามการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมแบบพหุมิติ แบบบันทึกการบริโภคอาหาร และแบบสอบถามสากลด้านการมีกิจกรรมทางกาย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติไคสแควร์ และสถิติถดถอยโลจิสติก
ผลการศึกษา พบว่า จำนวนครั้งของการคลอด ภาพลักษณ์เกี่ยวกับรูปร่างก่อนตั้งครรภ์ การสนับสนุนทางสังคม พลังงานที่ร่างกายได้รับ และการมีกิจกรรมทางกาย สามารถทำนายการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01) โดยพบว่า สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนที่มีการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมในระดับต่ำและปานกลางเสี่ยงต่อการเพิ่มของน้ำหนักตัวในไตรมาสที่สองเกินเกณฑ์มากกว่าสตรีตั้งครรภ์ที่มีการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมระดับสูง 6.0 เท่า (OR= 6.001, CI 1.89-19.02) และ 4.4 เท่า (OR= 4.413, CI 1.39-14.01) ตามลำดับ สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนที่ได้รับพลังงานอาหารไม่เหมาะสมเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวในไตรมาสที่สองมากเกินเกณฑ์มากกว่าสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับพลังงานอาหารเหมาะสม 8.2 เท่า (OR= 8.218, CI 1.97-34.37) และสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนที่มีกิจกรรมทางกายในระดับเบาเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในไตรมาสที่สองมากเกินเกณฑ์มากกว่าสตรีตั้งครรภ์ที่มีกิจกรรมทางกายในระดับหนัก 6.5 เท่า (OR= 6.464, CI 1.58-26.43)
จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะว่า ควรส่งเสริมให้สตรีตั้งครรภ์ได้รับพลังงานเข้าสู่ร่างกาย และมีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม โดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล เพื่อให้สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์