ผลของโปรแกรมสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนของครูต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ เด็กวัยเรียนโรคหืดของครูในโรงเรียน The Effects of A Self – Efficacy Program on The Healthcare Behaviors of Teachers of School-age Children with Asthma
คำสำคัญ:
เด็กวัยเรียนโรคหืด ครู โปรแกรมสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตน พฤติกรรมการดูแลสุขภาพบทคัดย่อ
โรคหืดในเด็กเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัยเรียนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมต่างๆที่โรงเรียน การดูแลสุขภาพจึงขึ้นอยู่กับตัวเด็ก และครูที่โรงเรียนเป็นสำคัญ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังทดลอง มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนของครูต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนโรคหืดของครูในโรงเรียน โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นครู จำนวน 50 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 25 ราย และกลุ่มควบคุมจำนวน 25 ราย ทำการศึกษาที่โรงเรียน 2 แห่ง กลุ่มควบคุมให้การดูแลเด็กวัยเรียนโรคหืดตามปกติที่โรงเรียน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนในการดูแลเด็กวัยเรียนโรคหืดในโรงเรียน จำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ และมีการติดตามทุกสัปดาห์ เก็บข้อมูลหลังเข้าร่วมโปรแกรม 8 สัปดาห์ โดยใช้แบบสอบถามพฤติกรรมของครูในการดูแลเด็กวัยเรียนโรคหืดในโรงเรียน ที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน และทดสอบค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟาครอนบาคได้เท่ากับ 0.90 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนาและเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติ Independent t-test และเปรียบเทียบความแตกต่างก่อนและหลังทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติ Paired t-test
ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการเข้าร่วมโปรแกรม 8 สัปดาห์ ค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมของครูในการดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนโรคหืดในโรงเรียนของกลุ่มทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01) และผลต่างค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมของครูในการดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนโรคหืดในโรงเรียนของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01)
ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนของครูต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนโรคหืดของครูในโรงเรียน มีประสิทธิภาพในการนำไปใช้ในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนโรคหืดของครูในโรงเรียนได้ และควรมีการศึกษาที่มีการติดตามผลในระยะยาว เพื่อศึกษาการคงอยู่ของพฤติกรรมการดูแล และประสิทธิผลของโปรแกรมต่อไป