ผลของการใช้โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ของเด็กนักเรียนประถมศึกษาตอนปลายที่มีภาวะโภชนาการเกินโดยการมีส่วนร่วม ของผู้ปกครองและครู อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา Effectiveness of Health Behavior Modification Program in Overweight Elementary School Students through Parents and Teachers Participation in Khong District Nakornratchasima Province

ผู้แต่ง

  • กรรณิการ์ จิตต์หาญ
  • เพชรไสว ลิ้มตระกูล
  • เกศินี สราญฤทธิชัย

คำสำคัญ:

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ นักเรียนประถมศึกษาตอนปลาย ภาวะโภชนาการเกิน การมีส่วนร่วมของ ผู้ปกครองและครู

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบสองกลุ่มวัดผลก่อนและหลังการทดลอง เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของนักเรียนประถมศึกษาตอนปลายที่มีภาวะโภชนาการเกินโดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครู กลุ่มตัวอย่าง 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน กลุ่มตัวอย่างผ่านการคัดเลือกด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งเพศ ระดับชั้นและภาวะโภชนาการ ระยะเวลาในการให้โปรแกรม 8 สัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ พฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย แบบสัมภาษณ์     การรับรู้ความสามารถของตน พฤติกรรมการบริโภคอาหาร พฤติกรรมการออกกำลังกาย และประเมินภาวะโภชนาการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงแบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ในเปรียบเทียบใช้ Paired t-test, Independent t-test และ Fisher’s exact test        

ผลการวิจัยพบว่า 1) กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ภายหลังเข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มทดลองแตกต่างกับก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=4.73, p=.000) ส่วนหลังการเข้าร่วมโปรแกรม กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีคะแนนความรู้แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (t=1.12, p=.267) 2) กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถของตนเองก่อนและหลังการร่วมโปรแกรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=4.67, p=.000) ส่วนหลังการเข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมมีคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนเองไม่แตกต่าง (t=-0.29,  p=.772) 3) คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มทดลองก่อนและหลังการร่วมโปรแกรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=2.89,  p=.007) ส่วนคะแนนพฤติกรรมการบริโภคอาหารภายหลังการเข้าร่วมโปรแกรมของกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน (t=-0.34,  p=.736) 4) คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการออกกำลังกายของกลุ่มทดลองก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=-2.47,  p=.020) ส่วนคะแนนพฤติกรรมการออกกำลังกายหลังการเข้าร่วมโปรแกรมของกลุ่มทดลองแตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=-3.76,  p=.000) 5) ภาวะโภชนาการของกลุ่มทดลองก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=.000) ส่วนภาวะโภชนาการหลังการเข้าร่วมโปรแกรมของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน (p=.685)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28