การรับรู้ของสตรีสูงวัยเกี่ยวกับแนวคิดการดูแลครอบครัว: กรณีศึกษาในชุมชนแห่งหนึ่งของอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ Perceptions of Elderly Women in Relation to the Concept of Family Care: Case Studies in Community at Laplae District, Uttaradit Province

ผู้แต่ง

  • กันตวิชญ์ จูเปรมปรี
  • ดารุณี จงอุดมการณ์

คำสำคัญ:

percepsions of elderly women family care concept laplae district, การรับรู้ของสตรีสูงวัย แนวคิดการดูแลครอบครัว อำเภอลับแล

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายการรับรู้เกี่ยวกับแนวคิดการดูแลครอบครัวของสตรีสูงวัยในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยผู้ให้ข้อมูลเป็นสตรีสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ระหว่างเดือน พฤษภาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2560 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหาของโคไลซี่

ผลการศึกษาพบแก่นความคิดของการดูแลครอบครัว 4  แนวคิดหลักประกอบด้วย 1) ยามละอ่อนผ่อนภาระงานบ้าน:  เสียสละเพื่อคนในเรือน ยอมสละความสุขส่วนตน ดูแลเลี้ยงน้อง แบ่งเบาภาระครอบครัว  2)  การเป็นเมียคือการเสียสละความเป็นส่วนตัว: สามีคือผู้นำครอบครัว ในฐานะของภรรยาต้องให้การดูแลครอบครัวด้วยความประนีประนอม ให้ความรัก ความเข้าใจ และความเอื้ออาทรต่อกัน รวมทั้งช่วยทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว 3) หัวใจคนเป็นแม่คือยอมเหนื่อยยากหากลูกสบาย:  ผู้หญิงต้องเลี้ยงลูกด้วยตนเอง สั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี  และยอมลำบากเพื่อให้ลูกสบาย 4) เลี้ยงหลานชายหญิงคือสิ่งภูมิใจวัยชรา: เพื่อให้แม่ของหลานไปทำงานเป็นที่พึ่งพาของลูกหลาน และคนในครอบครัว โดยมีปัจจัยเงื่อนไขของการดูแลครอบครัว ประกอบด้วย ความเชื่อ ค่านิยมของครอบครัว ความรักและสัมพันธภาพในครอบครัว  ลักษณะของครอบครัวที่อยู่ร่วมกันมากกว่าสองรุ่นวัย สามารถส่งเสริมและจัดการการดูแลสมาชิกในครอบครัวได้ดี และความคาดหวังเพื่อให้ลูกมีความสามารถดูแลตนเองโดยไม่พึ่งพาพ่อแม่  

                ผลการศึกษาครั้งนี้บุคลากรทางสุขภาพ พยาบาลครอบครัว และนักวิจัยสามารถนำไปใช้ในการให้กำลังใจครอบครัว  ขยายพลังบวกเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจของสตรี กล่อมเกลาสมาชิกหญิงชายในครอบครัวตั้งแต่เยาว์วัยให้มีศักยภาพและสมรรถนะแห่งตนในการดูแลครอบครัวบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันอย่างมีคุณภาพต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28