ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคในบุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจPredicting Factors Preventive Behaviors for Coronary Heart Disease among Persons at Risk to Disease
คำสำคัญ:
พฤติกรรมการป้องกันโรค โรคหลอดเลือดหัวใจ ความเชื่อด้านสุขภาพ แรงจูงใจด้านสุขภาพบทคัดย่อ
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณ
การขาดการรับรู้ความเสี่ยงตามความเชื่อด้านสุขภาพ ทำให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขาดความใส่ใจดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ การวิจัยครั้งนี้ออกแบบเพื่อศึกษาพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และปัจจัยทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคในบุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคคลที่เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจในระดับโอกาสเสี่ยงปานกลางถึงระดับสูงตามแนวทางการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่มารับบริการที่คลินิกโรคไม่ติดต่อของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 348 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้การสุ่มแบบแบ่งชั้นและคำนวณตามสัดส่วนประชากรของแต่ละชั้น เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน มิถุนายน ถึงเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2560 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามการรับรู้ภาวะสุขภาพและแรงจูงใจด้านสุขภาพ แบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามดังกล่าวเท่ากับ .89 และ .79 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณ
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐานร้อยละ 56.8 มีพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( = 2.52, SD = .83) และปัจจัยที่สามารถทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคในบุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ แรงจูงใจด้านสุขภาพ การรับรู้ความรุนแรงของโรค และการรับรู้อุปสรรค สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจของกลุ่มตัวอย่างได้ ร้อยละ 42 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ดังนั้นควรส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจในบุคคลกลุ่มเสี่ยง โดยเน้นการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันโรคที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนต้องสร้างการรับรู้ความรุนแรงของโรค และลดอุปสรรคที่ขัดขวางการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันโรค