การเสริมพลังอำนาจผู้ป่วยเรื้อรังในการสร้างบ้านปลอดบุหรี่เพื่อป้องกันภาวะฉุกเฉิน Empowering People with Chronic Illness to Create Smoke-Free Homes for Emergency Condition Prevention
บทคัดย่อ
ภาวะฉุกเฉิน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจตีบมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สูบบุหรี่ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้จึงมุ่งเสริมพลังอำนาจผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสู่การสร้างแรงจูงใจสมาชิกครอบครัวในการสร้างบ้านปลอดบุหรี่เพื่อป้องกันภาวะฉุกเฉิน เลือกพื้นที่ศึกษาแบบเจาะจง คือ 11 ชุมชนในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านผือ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีผู้ร่วมวิจัย 295 คน ได้แก่ ผู้ป่วย 100 คน จาก 100 ครอบครัว ผู้ดูแล 90 คน อสม.56 คน ผู้นำชุมชน 44 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 5 คน ดำเนินการวิจัย 1 ปี จาก ตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึง กันยายน พ.ศ. 2561 แบ่งเป็น 2 วงรอบๆละ 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ประเมินสถานการณ์การสูบบุหรี่และการเลิกสูบบุหรี่โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม 2) เปิดประชุมระดมสมองเพื่อกำหนดแผนการดำเนินงาน 3) ปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยในการสร้างบ้านปลอดบุหรี่ 4) ประเมินผลการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาต่อ
ผลการศึกษา พบว่า มีครอบครัวผู้ป่วยที่ปลอดบุหรี่คือไม่มีสมาชิกสูบบุหรี่เพียง ร้อยละ 34 ผู้สูบได้แก่ สามีของผู้ป่วย บุตร บุตรเขย และผู้ป่วยที่ยังสูบเป็นเพศชาย 28 คน มีเพศหญิง 4 คน โดยสมาชิกครอบครัวยอมรับการสูบบุหรี่ว่าเป็นการดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชนทั้งๆที่ผู้ป่วยทุกคนเคยได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ เหนือสิ่งอื่นใด คือ ผู้ป่วยไม่มีความรู้เรื่องความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่กับการเกิดภาวะฉุกเฉินทั้งๆที่เคยมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เกิดภาวะเส้นเลือดสมองแตกและเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ดังนั้นหลังการระดมสมองเรื่องการสร้างบ้านปลอดบุหรี่จึงมีผู้ป่วยและครอบครัวสนใจ ประกอบกับทุกชุมชนมีบุคคลที่เลิกสูบบุหรี่ได้ 2-3 คน เข้าร่วมประชุมจึงมีผู้อาสานำพาเพื่อนผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ และมีแผนปฏิบัติการร่วม 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ร่วมจัดทำคู่มือเรื่องอันตรายและภาวะฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิดกับผู้ป่วยเรื้อรัง และ คาถาการเลิกสูบบุหรี่จากประสบการณ์จริงของชุมชน 2) อบรมกลุ่มบุคคลที่สนใจร่วมสร้างแรงจูงใจแก่สมาชิกครอบครัวผู้ป่วยให้เลิกสูบบุหรี่ 3) ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโดยอาสาสมัครที่ผ่านการอบรม ค้นหาวิธีเลิกสูบบุหรี่ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและสมาชิกแต่ละครอบครัว 4) ติดตามประเมินผล ประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสริมแรงจูงใจสม่ำเสมอ หลังดำเนินงาน 1 ปี ใน 11 ชุมชนตาม 4 แนวทาง พบว่า มีครอบครัวปลอดบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 62 ครอบครัว ยังมีผู้ป่วยที่ลดการสูบบุหรี่แต่ยังสูบบุหรี่อีก 12 คน เป็นเพศชายทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. อสม. ยินดีนำแนวปฏิบัติดังกล่าวเข้าสู่การดำเนินงานปกติของ รพ.สต. และ จะมีการเสริมสร้างแรงจูงใจแก่สมาชิกชุมชนอย่างต่อเนื่อง