การพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลมุกดาหาร A Development of Nursing Care Model for Sepsis patients in Mukdahan Hospital
คำสำคัญ:
การพัฒนารูปแบบการพยาบาล ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด กระบวนการดูแลผู้ป่วยบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลมุกดาหาร ด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ระหว่าง เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ถึง มิถุนายน พ.ศ.2561 ดำเนินการพัฒนา 3 วงรอบ แต่ละวงรอบประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติการ การสังเกตการณ์ และการสะท้อนคิด ผู้เข้าร่วมวิจัยประกอบด้วย ผู้ป่วยภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตที่รับรักษาไว้ในโรงพยาบาลมุกดาหารจำนวน 107 คนพยาบาลวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานจำนวน 83 คน
ผลการศึกษา ผลการพัฒนาในวงรอบที่ 1 จากการสนทนากลุ่ม และจัดทำการวิเคราะห์เนื้อหา พบมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) การกำหนดนโยบายและมอบหมายงาน 2) การกำหนดให้มีแนวปฏิบัติ 3) การจัดการกระบวนการติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนาต่อเนื่อง จึงนำไปสู่การพยาบาลที่ครบวงจร วงรอบที่ 2 ได้พัฒนาองค์ประกอบ 3 ด้าน ดังนี้ 1) กำหนดนโยบายที่เหมาะสมตามกระบวนการดูแล 2) พัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลให้สอดคล้องกับบริบทโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และยืนยันผลโดยใช้ AGREE II 3) จัดให้มีกระบวนติดตามประเมินผลตามกระบวนการดูแลผู้ป่วย วงรอบที่ 3 การประเมินผลลัพธ์ 3 ด้าน ดังนี้ 1) กำหนดนโยบายและมอบหมายหน้าที่ตามกระบวนการดูแลผู้ป่วย คือ งานอุบัติเหตุฉุกเฉินประเมินผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด งานผู้ป่วยใน การเฝ้าระวังติดตามต่อเนื่อง และการจำหน่าย งานผู้ป่วยหนัก การพยาบาลผู้ป่วยในระยะช็อก 2) พัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ และทดลองนำไปใช้กับผู้ป่วย 71 ราย เปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างกลุ่มและหลังการพัฒนารูปแบบการพยาบาล พบว่า ระยะเวลาเฉลี่ยการค้นหาอาการในระยะเริ่มต้นลดลงจาก 170 นาที เป็น 25.5 นาที อัตราการพ้นช็อกได้ภายใน 6 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42.3 เป็นร้อยละ 82 3) ด้านการจัดการกระบวนการติดตาม พบว่า การเฝ้าระวังและติดตามการประเมินสัญญาณชีพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.9 เป็นร้อยละ 91.7 การบันทึกจำนวนปัสสาวะต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.4 เป็นร้อยละ 95.8