การพัฒนาแนวทางการให้บริการผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตระยะที่ 1-2 ของหน่วยบริการระดับทุติยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา The Development of guideline for caring Patients with Diabetic nephropathy At secondary care, Nakhonratchasima Province

ผู้แต่ง

  • จันทร์จิรา วาจามั่น
  • วิลาวัณย์ ชมนิรัตน์

คำสำคัญ:

การพัฒนาแนวทางบริการ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต

บทคัดย่อ

       การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การให้บริการผู้ป่วยโรคบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตระยะที่ 1-2 และพัฒนาแนวทางการให้บริการผู้ป่วยโรคเบาหวาน    ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตระยะที่ 1-2 จำนวน 14 คน ผู้ดูแลหลักจำนวน 14 คน ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 22 คน เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยบริการ จำนวน 15 คน และผู้บริหาร 4 คน กระบวนการศึกษา ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1)  ขั้นศึกษาสถานการณ์บริการผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตระยะที่ 1-2 ในหน่วยบริการ   2)  ขั้นออกแบบและวางแผนกิจกรรมโดยการมีส่วนร่วมของผู้ร่วมวิจัย  3) ขั้นปฏิบัติตามแผน และ 4) ขั้นประเมินผลและสะท้อนกลับ การวิเคราะห์ใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

    จากการศึกษา  พบว่า การให้บริการผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตระยะที่ 1-2 ของหน่วยบริการ ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลสภาวะสุขภาพของผู้ป่วย ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลภายในหน่วยบริการ  และขาดการคืนข้อมูลให้ชุมชน  ทำให้ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยเพื่อชะลอการเสื่อมของไต  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมออกแบบและวางแผนกิจกรรมในการพัฒนาบริการ  ดังนี้ 1) การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่และการพัฒนาศักยภาพ อสม. 2) การพัฒนารูปแบบการจัดการตนเองของผู้ป่วยโดยพยาบาลผู้จัดการรายกรณี 3) การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วย และพัฒนาแนวทางการเยี่ยมบ้าน 4) การพัฒนาให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้วยการเยี่ยมบ้านของอสม.ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ผลลัพธ์ด้านการบริการของหน่วยบริการและผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้ป่วยหลังการดำเนินงานตามแผนพัฒนา พบว่า  มีแนวทางในการให้บริการที่ชัดเจนและให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ร้อยละ 21.4  ระดับน้ำตาลสะสมดีขึ้นร้อยละ28 .6  อัตราการกรองของไตคงที่ร้อยละ 85.7  ความดันโลหิตดีขึ้นร้อยละ 64.2  ด้านพฤติกรรมพบว่าปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหารให้ดีขึ้นร้อยละ 50.0 ผู้ดูแลหลักลดการใช้เครื่องปรุงในการปรุงอาหารร้อยละ 35.7

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-03-29