ปัจจัยทำนายระยะเวลาการมารับการรักษาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หลังจากเกิดอาการในระยะเฉียบพลัน Factors Predicting Prehospital Time of Patients with Acute Ischemic Stroke in Acute Phase

ผู้แต่ง

  • กัญจน์ณิชา เยียดไธสง
  • อภิญญา วงศ์พิริยโยธา
  • พจนีย์ ขูลีลัง

คำสำคัญ:

ปัจจัยทำนาย โรคหลอดเลือดสมอง การรับรู้โรคหลอดเลือดสมอง ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง ช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง ระยะเวลามารับการรักษา

บทคัดย่อ

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะพิการอย่างถาวรทางร่างกายและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยคัดสรรที่ทำนายระยะเวลาการมารับการรักษาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังจากเกิดอาการในระยะเฉียบพลัน ที่มารับการรักษาที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมระบบประสาทและโรคหลอดเลือดสมอง ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง จำนวน 131 คน ซึ่งได้มาด้วยการสุ่มแบบง่ายด้วยตารางเลขสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลประกอบด้วย  1) แบบประเมินการรับรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง  2) แบบประเมินการรับรู้ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง  3) แบบประเมินการรับรู้ช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .76, 70 และ .87 ตามลำดับ และ         4) แบบประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง (ประเมินโดยแพทย์) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

                ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลช้ากว่า 270 นาที ร้อยละ 56.4 ผู้ป่วยมีคะแนนเฉลี่ยของการรับรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองและการรับรู้ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในระดับมาก ( = 20.72, SD =  4.47 และ   = 23.30, SD = 2.33) อย่างไรก็ตามแพทย์ได้ให้คะแนนความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วยอยู่ในระดับรุนแรงน้อย ( =  3.97, SD = 2.95) ผลการวิเคราะห์เชิงทำนายพบว่าการรับรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง (ประเมินโดยแพทย์) และรายได้ของครอบครัว สามารถร่วมทำนายระยะเวลาการมารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (R2 = .114, F = 4.267, p < .05) ดังนั้นทีมสุขภาพควรส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ให้รู้จักอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อลดระยะเวลาในการตัดสินใจมารับการรักษา

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-03-29