การพัฒนารูปแบบการพยาบาลสำหรับแผลเบาหวานที่เท้าในโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ Nursing Care Model Development for Diabetic Foot Ulcer at Kalasin Hospital
คำสำคัญ:
การวิจัยและพัฒนา รูปแบบการพยาบาล แผลเบาหวานที่เท้าบทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้าในโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ดำเนินการช่วงเดือนมิถุนายน 2560 – มิถุนายน 2561 เก็บข้อมูลที่แผนกผู้ป่วยนอก แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน หอผู้ป่วยศัลยกรรมและหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม กลุ่มเป้าหมายได้แก่ พยาบาล จำนวน 86 คน และผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้าและญาติที่เข้ารับการรักษาในช่วงเวลาที่ศึกษา จำนวน 68 คน ผลการวิจัยระยะที่ 1 พบว่าแนวปฏิบัติที่ใช้ในแต่ละหน่วยงานไม่เป็นปัจจุบันและแนวทางเดียวกัน การคัดกรองภาวะแทรกซ้อนที่เท้าและประเมินความรุนแรงของแผลยังไม่ครอบคลุม ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันพยาบาลขาดความรู้และทักษะในการป้องกันและดูแล ในระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้าได้ผลลัพธ์เป็นแนวปฏิบัติที่ประกอบด้วย การคัดกรอง/ซักประวัติ การตรวจเท้า/ความผิดปกติที่เท้า การประเมินความรุนแรงของแผล การตรวจและแปลผลทางห้องปฏิบัติการ การให้ข้อมูลผู้ป่วย/ญาติ การส่งต่อ การพยาบาลระยะเฉียบพลันและการดูแลต่อเนื่อง ผลลัพธ์จากระยะที่ 3 การนำแนวปฏิบัติสู่การทดลองใช้พบว่า บุคลากรทางการพยาบาลยังขาดความรู้และทักษะการคัดกรองแผลที่เท้าเบาหวาน โดยมีการปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาศักยภาพของพยาบาลทั้งความรู้/ทักษะ มีการประเมินความรู้ของพยาบาลก่อนและหลังการให้บริการในแต่ละหอผู้ป่วย และผลลัพธ์ในระยะที่ 4 การนำรูปแบบการพยาบาลที่พัฒนาไปใช้พบว่า คะแนนความรู้/ทักษะพยาบาลเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 18.65 เป็น 27.12 และจากค่าเฉลี่ย 19.12 เป็น 27.05 ผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับในระดับมากที่สุด