ปัจจัยทำนายการเริ่มหลั่งน้ำนมในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่Factors Predicting the Onset of Lactation in Breastfeeding Mothers

ผู้แต่ง

  • นิรัตน์ชฎา ไชยงาม
  • ฉวีวรรณ อยู่สำราญ
  • วรรณา พาหุวัฒนกร

คำสำคัญ:

การเริ่มหลั่งน้ำนม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความถี่ในการดูดนม ยาบรรเทาความเจ็บปวดในระยะคลอด นมแม่

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงทำนายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอำนาจการทำนายของดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์ เวลาในระยะที่ 2 ของการคลอด การได้รับยาบรรเทาความเจ็บปวดในระยะคลอด ความเครียดของมารดา เวลาที่ทารกเริ่มดูดนมครั้งแรก และความถี่ในการดูดนม ต่อการเริ่มหลั่งน้ำนมในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยใช้กรอบแนวคิดทางพยาธิสรีรวิทยาและการทบทวนวรรณกรรม ทำการศึกษาในกลุ่มมารดาหลังคลอดอายุ 18 ปีหรือมากกว่า ที่คลอดบุตรคนแรก และคลอดทางช่องคลอด ที่หอผู้ป่วยสูติกรรมหลังคลอด โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จำนวน 83 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการเริ่มหลั่งน้ำนมเฉลี่ย 57.35 ชั่วโมงหลังคลอด (S.D.= 20.26) ปัจจัยทั้ง 6 ปัจจัยร่วมกันทำนายการเริ่มหลั่งน้ำนมได้ ร้อยละ 30.3 (R2= .303, p < .01) โดย 2 ปัจจัยที่สามารถทำนายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความถี่ในการดูดนม (β =  0.315, t = -3.080, p < 0.01) และ การได้รับยาบรรเทาความเจ็บปวดในระยะคลอด (β = 0.314, t = 3.064, p < 0.01) ด้วยเหตุนี้พยาบาลจึงควรกระตุ้นให้ทารกดูดนมแม่ทุก 2-3 ชั่วโมง (6-8 ครั้งต่อวัน) และในระยะคลอดควรเน้นให้การพยาบาลเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยาเพื่อลดการใช้ยาบรรเทาความเจ็บปวดในระยะคลอด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-03-29