ศักยภาพของชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ Community Capacity in Elderly Care
คำสำคัญ:
ศักยภาพของชุมชน การดูแลผู้สูงอายุบทคัดย่อ
การศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณาแบบวิพากษ์เพื่อศักยภาพของชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ ที่สอดรับกับบริบทของสังคมวัฒนธรรมชุมชนที่ศึกษา เก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลจำนวน 115 คน รวบรวมข้อมูลโดย การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการศึกษาข้อมูลเอกสาร ความน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยตรวจสอบแบบสามเส้า วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า 1) บริบทที่เกี่ยวข้องกับความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุในชุมชนมี 3 ลักษณะคือ สถานการณ์ที่ทำให้เกิดศักยภาพการดูแล ลักษณะของการดูแล และโครงสร้างศักยภาพของชุมชน 2) การให้ความหมายศักยภาพของชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุของชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การมีเครือข่าย การมีองค์ความรู้ ความเป็นปึกแผ่น และการมีจิตอาสา 3) ปัญหาและความต้องการศักยภาพชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุของพื้นที่ จากนโยบายของพื้นที่และนโยบายของชาติ ทำให้พบการร่วมกันในการดูแลช่วยเหลือคนในชุมชน ได้แสดงให้เห็นองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ คือ สร้างการรับรู้การมีศักยภาพของชุมชน สร้างการเรียนรู้การมีศักยภาพของชุมชน และชุมชนมีการจัดการเพื่อสร้างศักยภาพของชุมชน 4) ปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลให้เกิดศักยภาพของชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุได้แก่ การมีฐานข้อมูลระดับตำบล การใช้กระบวนการศึกษาข้อมูลชุมชนแบบมีส่วนร่วม การใช้กระบวนการประชาคม การจัดเวทีพูดคุย เสวนาระหว่างสี่องค์กรหลักในพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพ การหนุนเสริมปฏิบัติการของกลุ่มทางสังคมต่างๆในชุมชน การสร้างเครือข่าย การประสานงานกับหน่วยงาน องค์กรนอกพื้นที่ 5)ข้อเสนอศักยภาพของชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ ต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คือออกแบบฐานข้อมูลโดยการจำแนกกลุ่มประชากรเป้าหมายสำคัญ และกลุ่มเสี่ยง ออกแบบการให้บริการการดูแลผู้สูงอายุของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ข้อเสนอศักยภาพของชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเป็นเจ้าภาพในการจัดทำฐานข้อมูลระดับตำบล และจัดทำแผนศักยภาพชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์การช่วยเหลือการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดตั้งกองทุนการจัดการช่วยเหลือการดูแลผู้สูงอายุ และหนุนเสริมปฏิบัติการของกลุ่มทุนทางสังคมต่าง ๆ ในชุมชนที่ส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้สูงอายุ