ผลของการฝึกหะฐะโยคะต่อระดับความวิตกกังวลและภาวะแทรกซ้อน ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด THE EFFECT OF HATHA-YOGA ON ANXIETY AND COMPLICATIONS IN BREAST CANCER PATIENTS AFTER SURGERY
คำสำคัญ:
หะฐะโยคะ, มะเร็งเต้านม, ผ่าตัดมะเร็งเต้านม, วิตกกังวล ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมบทคัดย่อ
ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดมักเกิดความวิตกกังวลและภาวะแทรกซ้อนตามมา เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการดูแลตนเองลดลง การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฝึกหะฐะโยคะต่อความวิตกกังวลและภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด โดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม (Orem) เป็นคติฐาน กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเต้านมถอนรากแบบดัดแปลง Modified Radical Mastectomy (MRM) แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 36 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 18 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 18 คน โดยกลุ่มทดลองจะได้รับการฝึกหะฐะโยคะ กลุ่มควบคุมคือกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบประเมินความวิตกกังวล และโกนิโอมิเตอร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การทดสอบทีและไคสแคว์
ผลการวิจัยพบว่า
- กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวล หลังการทดลองต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมี
นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
- กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลหลังการทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุม
อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
- กลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยองศาของไหล่ในท่าหมุนหัวไหล่เข้า หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง
อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
- กลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยองศาของไหล่ในท่าหมุนหัวไหล่ออกหลังการทดลอง สูงกว่าก่อนการ
ทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
- กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยองศาของไหล่ในท่าหมุนหัวไหล่เข้าและในท่าหมุนหัวไหล่ออก หลังการ
ทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
- กลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยเส้นรอบวงแขนตำแหน่งที่สูงกว่าและต่ำกว่ากระดูก
โอเลเคร์นอน หลังการทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า การฝึกหะฐะโยคะส่งผลให้ความวิตกกังวลและภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยมะเร็ง เต้านมหลังผ่าตัดลดลง พยาบาลจึงควรนำหะฐะโยคะมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการพยาบาลเพื่อลดความวิตกกังวลและภาวะแทรกซ้อนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น