ปัจจัยที่สัมพันธ์กับจำนวนวันนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด ของผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ Factors associated with postoperative length of hospital stay of older patients undergoing coronary artery bypass graft

ผู้แต่ง

  • มะลีวรรณ ศิลารัตน์
  • ิจิตภินันท์ ศรีจักรโคตร
  • ศุภฤทธิ์ ศิลารัตน์

คำสำคัญ:

ความสามารถในการทำกิจกรรม ระดับอัลบูมินในเลือด ภาวะสับสนเฉียบพลัน การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ จำนวนวันนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านร่างกายและปัจจัยด้านการผ่าตัดกับจำนวนวันนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัดของผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่างได้รับการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 96 ราย อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปและได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 ถึงเดือนมีนาคม 2555 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกการเจ็บป่วยและการรักษา แบบประเมินความสามารถในการทำกิจกรรมและแบบประเมินภาวะสับสนเฉียบพลัน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยายและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมน

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนวันนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัดตั้งแต่ 5 ถึง 38 วัน ค่าเฉลี่ย 10.54 วัน โดยความสามารถในการทำกิจกรรมเมื่อแรกรับเข้าโรงพยาบาลและระดับอัลบูมินในเลือดมีความสัมพันธ์ทางลบกับจำนวนวันนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัดของผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01, p<.05 ตามลำดับ) ในขณะที่การเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันและจำนวนภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนวันนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01) นอกจากนี้ชนิดของการผ่าตัดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนวันนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมไม่มีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัดของผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

Downloads