ผลของโปรแกรมการส่งเสริมความสามารถแห่งตนด้านการออกกำลังกายต่อความสามารถ ในการทำหน้าที่และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

ผู้แต่ง

  • สุมาลี วิชาผา
  • ตวงพร พุ่มทองดี
  • วาสนา รวยสูงเนิน

คำสำคัญ:

ภาวะหัวใจล้มเหลว ความสามารถแห่งตน ความสามารถในการทำหน้าที่ คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมความสามารถแห่งตนด้านการออกกำลังกายต่อความสามารถในการทำหน้าที่และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว  กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มานอนรักษา ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์และศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 36 ราย สุ่มอย่างง่าย ตามเกณฑ์ กลุ่มละ 18 ราย ในกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมความสามารถแห่งตน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ผู้วิจัยประยุกต์ใช้ทฤษฎีความสามารถแห่งตนของแบนดูรา สร้างเป็นกรอบแนวคิด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป แบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว แบบสัมภาษณ์การรับรู้ความสามารถในการออกกำลังกาย การวัดระยะทางเดินในพื้นราบ 6 นาที วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้สถิติ Independent t-test และ Paired t- test

ผลการวิจัย  พบว่า  หลังการทดลอง  กลุ่มทดลอง มีคะแนนเฉลี่ยของความสามารถในการทำ หน้าที่ คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถในการออกกำลังกาย มากกว่าก่อนการทดลอง และมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่( p < 0.01)

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า  ผู้ป่วยที่ได้รับโปรแกรมการส่งเสริมความสามารถแห่งตนด้านการออกกำลังกาย มีความสามารถในการทำหน้าที่ คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและ การรับรู้ความสามารถในการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ดังนั้นพยาบาลควรมีการส่งเสริมการออกกำลังกายในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ในรายที่มีอาการคงที่

Downloads